AKR ลั่นปี 53 พลิกกำไร หวัง"เอกรัฐโซล่าร์"รายได้โตเกิน 100%,ออร์เดอร์ฟื้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 12, 2009 14:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอกรัฐวิศวกรรม(AKR)กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทมั่นใจว่าในปี 53 ผลประกอบการจะพลิกกลับมามีกำไรอย่างแน่นอน จากปีนี้ที่คงจะยังมีผลขาดทุนอยู่ โดยในด้านรายได้คาดว่าเฉพาะบริษัท เอกรัฐโซล่าร์ คงจะเติบโตได้ 100% ขึ้นไป ส่วน AKR รายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 25% จากปีนี้

"ปีหน้าขยายตัวกว่าปีนี้แน่นอนอยู่แล้ว เพราะปีนี้ค่อนข้างตกต่ำที่สุด ตอนแรกเราตั้งเป้ารายได้ปีนี้ไว้ 4 พันล้านบาท จากบริษัทแม่ 2 พันล้านบาท จากลูกอีก 2 พันล้านบาท แต่ทุกอย่างมันกลับพลิกผันไปหมด"นายเกียรติพงศ์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

นายเกียรติพงศ์ คาดว่า รายได้ของบริษัทในปี 53 จะอยู่ในช่วง 33.0-3.5 พันล้านบาท โดยรายได้จากการขายโซล่าร์เซลส์คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 1.5 พันล้านบาท จากปีนี้ที่ทำรายได้เพียง 300-400 ล้านบาท ส่วน AKR ปีหน้าน่าจะมีรายได้เพิ่มเป็น 1.8-2.0 พันล้านบาท จากปีนี้ทำได้ 1.4-1.5 พันล้านบาท

"ปีนี้ทุกอย่างประดังประเดเข้ามาพร้อมกันหมด ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบให้การลงทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศน้อยลง รวมทั้งกรณีระงับ 76 โครงการมาบตาพุด"นายเกียรติพงศ์ กล่าว

นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลสั่งชะลอ 76 โครงการมาบตาพุด ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะหากไม่เกิดกรณีนี้ขึ้นเสียก่อน ก็เชื่อว่าจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 300-400 ล้านบาท เนื่องจากโครงการลงทุนทั้งหมดต้องใช้หม้อแปลงไฟฟ้า แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปีหน้าสถานการณ์น่าจะดีขึ้นเข้าสู่บปกติ คำสั่งซื้อในส่วนนี้ก็น่าจะกลับเข้ามาด้วย

"ปีนี้มันเป็นของธรรมดา เพราะมันไม่มีการลงทุนไม่มีการขยายงาน หม้อแปลงของผมมันขึ้นอยู่กับการลงทุนสร้างโรงงานใหม่ ขยายคอนโดฯ ใช้หม้อแปลงทั้งนั้น พอทุกคนหยุดการลงทุน ออเดอร์ก็หาย...ถ้าทำปกติมันก็โอเค ผมก็เลยพยายามออกไปหางานต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานหม้อแปลง ตอนนี้ก็เริ่มเข้ามาเรื่อยๆ ขณะที่ตลาดในประเทศก็เริ่มดีขึ้น ผมเชื่อ Quater 4 จะเริ่มใช้ได้แล้วล่ะครับ"นายเกียรติพงศ์ กล่าว

นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้บริษัทอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด เนื่องจากบริษัท เอกรัฐโซล่าร์ จำกัด ที่เพิ่งดำเนินธุรกิจมาได้ไม่นานและมีตลาดหลักอยู่ในต่างประเทศ คำสั่งซื้อหายไปหมดเมื่อเศรษฐกิจฟุบ แต่ขณะนี้คำสั่งซื้อกำลังเริ่มฟื้นคืนมา

ขณะเดียวกันรัฐบาลสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่เดือน ก.ย.52 ทั้งการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่ม(Adder) ทำให้คำสั่งซื้อเริ่มเข้ามาเรื่อยๆ คาดว่าในปีหน้าน่าจะเข้ามาเต็มที่ โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าเร็วๆนี้จะมีการเซ็นสัญญาเพิ่มเติม

"การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงรับซื้อยูนิตละ 11 บาท ปกติซื้อไฟฟ้ายูนิตละ 3 บาท แต่เราขายได้ยูนิตละ 11 บาท คุ้มค่า ซึ่งพอลูกค้าเห็นว่าขายไฟได้คุ้มค่าการลงทุน ก็สนใจกันมาก ส่วนลูกค้าต่างประเทศก็กำลังเจรจา"นายเกียรติพงศ์ กล่าว

นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า ในปี 53 สัดส่วนรายได้ของ AKR และเอกรัฐโซลาร์จะปรับมาเป็น 50:50 จาก 70:30 ในปัจจุบัน ขณะที่สัดส่วนรายได้ในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันอยู่ที่ 80:20

ด้านกำลังผลิต ปัจจุบันกำลังผลิตของโซล่าร์เซลส์ 30 เมกะวัตต์ ถ้าทำเต็มที่ 24 ชั่วโมงจะได้ 3 พันล้านบาท ซึ่งตอนนี้ผลิตไม่ถึง 20% แต่ปีหน้าเรามั่นใจว่าคำสั่งซื้อกลับมา กำลังผลิตจะถึง 50% แน่นอน

*พยายามจบคดีกับ TMB ภายในปีนี้

นายเกียรติพงศ์ กล่าวถึงความคืบหน้าคดีที่ธนาคารทหารไทย(TMB)ยื่นฟ้องให้บริษัท เอกรัฐโซล่าร์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ AKR ถือหุ้นอยู่ 99.99% ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 800-900 ล้านบาทนั้น ล่าสุดอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองกับธนาคารซึ่งจะพยายามให้จบภายในปีนี้

"เราพยายามจะให้จบภายในปีนี้ เพราะจริงๆ ก็ไม่น่าจะมีอะไร เพราะเอกรัฐฯไม่มีปัญหาใช้หนี้ เพียงแต่ต้องคุยเรื่องรายละเอียดให้จบ เพราะถ้าไม่จบต้องมีค่าเสื่อมปีละเกือบๆ 100 ล้านบาท เพราะฉะนั้นต้องรีบจบ ยิ่งถ้ามีคำสั่งซื้อทยอยเข้ามาเราสามารถใช้หนี้ได้หมดอยู่แล้ว แต่คงต้องผ่อนส่ง ถ้าจะให้ชำระทีเดียวทั้งก้อนก็คงไม่ไหว"นายเกียรติพงศ์ กล่าว

นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า เอกรัฐโซล่าร์ถือว่ามาในจังหวะที่ผิดเพี้ยนไปนิดนึง ทำธุรกิจได้ไม่เท่าไหร่ก็มาเจอวิกฤติเศรษฐกิจ เงินที่ขอกู้จาก TMB มาซื้อเครื่องจักร สร้างโรงงาน รวมทั้งหมดเกือบ 1.4 พันล้านบาท เดินเครื่องผลิตไม่เต็มที่ก็มาเจอวิกฤติเสียก่อน

ส่วนเรื่องนำเอกรัฐโซล่าร์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า คงต้องรอให้เอกรัฐโซล่าร์มีกำไรค่อยมาว่ากันใหม่ แต่ปีหน้าก็คงยัง ถ้ามีกำไรก็คงเอาไปใช้หนี้ก่อน

"เข้าได้ผมก็อยากเข้าตลาดหลักทรัพย์น่ะ ระดมทุนมาทำงาน มีกำไรก็จ่ายปันผลผู้ถือหุ้น ไม่ต้องไปจ่ายดอกเบี้ยธนาคาร เพราะเอกรัฐฯไม่ได้ใช้เงินธนาคารแบบที่ต้องเป็นหนี้ระยะยาวเลยนะครับ มีแต่หนี้ระยะสั้นที่เกิดจากไปเปิด L/C ค้ำประกันลูกค้า อัตราหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 0.5 เอง"นายเกียรติพงศ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ