BLS คาดตลาดหุ้นไทยร่วง 5% ในช่วง 1-2 เดือนจากความกังวลดูไบสะเทือนทั่วโลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 27, 2009 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง (BLS) คาดว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วง 1-2 เดือนจากนี้ จะปรับตัวลดลงราว 5% มาอยู่ในช่วง 640-650 จุด เนื่องจากผลกระทบความกังวลในกรณีรัฐดูไบเลื่อนการชำระหนี้ เพราะจะต้องใช้เวลาในการจัดการปัญหาอีกระยะหนึ่ง

จาก ณ ตอนนี้ บล.บัวหลวงยังไม่ได้มีการปรับเป้าดัชนี SET จาก 870 จุด ในช่วงปลายปี 53 เพราะยังเชื่อว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงยาวนาน ถึงแม้จะมีความกังวลในปัญหาเศรษฐกิจโลก เชื่อว่าจะไม่มีผลในระยะยาว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับทิศทางราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะเป็นตัวชี้วัดด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทย คงจะมีบริษัทจดทะเบียนหรือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อย อย่างกรณีของบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์(ITD)คงจะกระทบในมูลค่าที่ไม่มาก เพราะงานส่วนใหญ่ที่รับในดูไบแล้วเสร็จไปหมดแล้วจะมีผลกระทบก็คืองานที่ค้างชำระค่าก่อสร้างเกิน 1 เดือน

ส่วนกรณีของบมจ. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ที่เคยมีแผนจะไปลงทุนในดูไบ ก็กลับตัวทัน จึงไม่มีผลกระทบ แต่ปัจจัยในประเทศยังมีเรื่องการเมืองที่เป็นแรงกดดันเพิ่มเข้ามา

นายชัยพร กล่าวว่า ในประเด็น fund flow จากต่างประเทศนั้น จากนี้จนถึงสิ้นปี 52 คงจะอยู่ในลักษณะทรงตัว แต่ก็จะยังเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียเพื่อหาผลกำไรและส่วนต่าง ถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นตัวเลือกสุดท้าย เพราะผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำ หรือ 45% ขณะที่ตลาดอื่น ๆ อยู่ในระดับ 60-65%

หากมองในแง่ของการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียในปี 53 ก็ถือว่าดีกว่าเมื่อเทียบกับสหรัฐและยุโรป โดยเฉพาะจีนและอินเดีย คาดว่าเศรษฐกิจเอเชียจะเติบโต 8% ในปี 52 ส่วนสหรัฐจะเติบโตได้ 3.2% และยุโรป 1.2%

ทั้งนี้ คาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคเอเชียช่วงปลายปี 53 เช่นเดียวกับไทยที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นมาราว 0.50% เพราะมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ยังมีความกังวลปัจจัยทางด้านการเมืองที่ยังประเมินผลกระทบได้ลำบาก รวมทั้งทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน

ขณะนี้ฝ่ายวิจัยของ บล.บัวหลวง ยังได้ปรับการประเมินอัตราเติบโตของกำไร บจ.ไทยในปี 53 เบื้องต้นลดลงมาที่ต่ำกว่า 20%จากเดิมอยู่ที่ 26% เนื่องจากฐานในปี 52 ที่เติบโตมากที่เทียบกับปี 51 แต่อย่างไรก็ตามขึ้นกับการผลักดันมาตรการภาครัฐ ที่จะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้เร็วแค่ไหน ซึ่งก็จะส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคาพาณิชย์ รวมถึงทิศทางราคาน้ำมันที่จะมีผลต่อผลประกอบการของกลุ่มพลังงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ