(เพิ่มเติม) PTT-SCC เล็งยื่นศาลปกครองฯชี้ขาดโครงการก่อน รธน.50 เดินหน้าได้หรือไม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 4, 2009 18:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ปตท.(PTT)และ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) เตรียมยื่นคำร้องให้ศาลปกครองชี้ว่าโครงการที่ได้รับการอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ก่อนรัฐธรรมนูญปี 50 บังคับใช้ในวันที่ 24 ส.ค.50 จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน หลังจากเห็นว่าคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมาอ้างคำสั่งศาลชั้นต้นว่าโครงการก่อนรัฐธรรมนูญปี 50 บังคับใช้ไม่อยู่ในข่ายต้องระงับ

ทั้งนี้ โครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดที่ได้รับอนุมัติแผน EIA ก่อนรัฐธรรมนูญปี 50 บังคับใช้มีจำนวน 8 โครงการ โดยในจำนวนดังกล่าว 3 โครงการเป็นของ PTT ได้แก่ โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6, โครงการส่วนขยายโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชนิดความหนาแน่นสูง(BPEX) และโครงการโรงงานผลิตเอทานอลเอมีน ขณะที่มีอีก 1 โครงการเป็นของ SCC

"วันนี้ที่มีการหารือมองว่า 8 โครงการได้รับ EIA ก่อนวันที่ 24 สิงหาคม 50 แต่เพื่อต้องการความชัดเจนก็จะถามไปยังศาลปกครองกลางว่าคำสั่งดังกล่าวจะนับตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต EIA วันที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างโรงงาน หรือวันที่ประกอบกิจการโครงการนั้น ซึ่งก็จะดำเนินการโดยเร็ว แต่ละบริษัทก็จะดำเนินการกันไป"นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังการหารือของผู้ประกอบการที่มีโครงการลงทุนในมาบตาพุด

นายชายน้อย เผื่อนโกสุม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น(PTTAR) กล่าวว่า ตามความเข้าใจของเอกชนเห็นว่าโครงการที่ได้รับ EIA ก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้ก็น่าจะสามารถเดินหน้าโครงการไปได้ แต่เพื่อความชัดเจนก็จะสอบถามไปยังศาลปกครอง

"โดยความเข้าใจของเอกชน ถ้าโครงการผ่าน EIA ก็ถือว่าโครงการเดินหน้าได้โดยอัตโนมัติ ดังนั้นเพื่อความชัดเจนเราก็ต้องการถามศาลปกครองกลาง เรื่องนี้เราก็อยากทำให้เร็ว" นายชายน้อย กล่าว

นายพยุงศักดิ์ ยังกล่าวว่า มีโครงการปลายน้ำ(downstream)ในกลุ่ม 65 โครงการที่มีมูลค่าประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาทคาดว่ามีแนวคิดที่จะยกเลิกการลงทุน ส่วนโครงการอื่นได้ให้แนวทางแต่ละบริษัทให้นำโครงการไปเทียบเคียงกับ 11 โครงการที่ได้รับอนุมัติดำเนินโครงการต่อไป และโครงการที่ผ่านอนุมัติดังกล่าว อาจจะเดินหน้าไม่ได้เพราะโครงการหลักไม่ได้รับการอนุมัติ

รองประธาน สอท. กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันเอกชนต้องการที่ให้เดินหน้าโครงการควบคู่ไปกับการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพ(HIA) เพราะการจัดแผน HIA ต้องใช้ระยะเวลานานถึง 14 เดือน กว่าจะดำเนินโครงการก็ล่าช้าไปมาก ประกอบกับในไทยมีผู้เชี่ยวชาญดำเนินการจัดทำแผน HIA มีจำกัด อาจจะมีปัญหาขาดแคลนถ้าต้องทำพร้อมกันทั้ง 65 โครงการ

"เรามีความคาดหวัง เราอยากได้ให้ทำงานขนานกับไปกับการทำ HIA เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ถ้าผลที่ออกมาไม่ดีเราก็จะหยุด แต่ถ้ามีผลเสียหายอะไรก็ทำต่อไปได้" นายพยุงศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากผู้ถือหุ้นหรือผู้ร่วมทุนบริษัทใดฟ้องร้องกับบริษัทที่ทำให้บริษัทเกิดความเสียหาย นั้น บริษัทนั้นก็จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับหน่วยงานรัฐ นอกจากนี้คาดว่าอาจจะมีการฟ้องร้องการผิดสัญญางานก่อสร้าง และอื่นๆ

ส.อ.ท.ประเมินว่า 65 โครงการที่มูลค่าเงินลงทุนรวม 2.3-2.5 แสนล้านบาทต้องชะงักไป ทำให้เกิดความสูญเสียรายได้ประมาณปีละ 2.6 แสนล้านบาท และทำให้แรงงานว่างงานประมาณ 3.7 หมื่นคน รวมพนักงานประจำอีก 1หมื่นคน ทำให้รายได้จากค่าแรงหายไป ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐหาทางเยียวยาด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ