KASET เชื่อปี 53 รายได้ยังโตอย่างน้อย 15% แม้การเมือง-ศก.โลกมีผลกระทบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 12, 2010 13:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมฤกษ์ ตั้งพิรุฬห์ธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยฮา(KASET)เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ผลประกอบการไตรมาส 1/53 ที่ออกมาดี เป็นผลต่อเนื่องจากไตรมาส 4/52 ที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศไทยกำลังฟื้นตัว โดยบริษัทมีการเตรียมการรองรับการพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หลังจากบริษัทประสบปัญหาผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจโลกเช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่น

บริษัทคาดว่ารายได้ในไตรมาส 2/53 จะอ่อนตัวลงจากไตรมาส 1/53 แต่คงดีกว่างวดเดียวกันของปีก่อน เพราะปกติช่วงไตรมาส 2 เป็นช่วงโลว์ซีซั่นอยู่แล้ว ประกอบกับ ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวลดลง โดยเฉพาะข้าวขาว เนื่องจากผลผลิตในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ผลกระทบอาจไม่มากนัก เพราะบริษัทเน้นขายข้าวหอมมะลิ

แต่บริษัทได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมืองในประเทศที่ส่งผลให้ร้านอาหารและภัตตาคารปิดตัวลง ส่งผลกระทบต่อการขาย ข้าว น้ำมัน เครื่องปรุงรส และขณะนี้สถานการณ์การเมืองยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด รวมทั้งภาวะผันผวนของเศรษฐกิจในต่างประเทศยังสร้างผลกระทบอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเชื่อว่ารายได้ในปี 53 จะเติบโต 15% หรือมีรายได้ 2.1 พันล้านบาท

"รายได้และกำไรไตรมาส 1/53 ของบริษัทดีตามคาด กลับมามีกำไร เพราะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่ตอนนี้ต้องติดตามใกล้ชิดสถานการณ์การเมืองในบ้านเรายังส่งผลกระทบต่อตัวบริษัททางอ้อมด้วย เพราะลูกค้าที่ซื้อสินค้า ข้าว น้ำมัน ทั้งลูกค้าภัตตาคาร ร้านอาหารได้รับผลกระทบเยอะมาก และเราเองก็ได้รับผลกระทบด้วยคงเห็นตั้งแต่ไตรมาส 2/53 แต่แม้ว่าบริษัทได้รับผลกระทบแต่ยังเชื่อว่ารายได้จะเติบโตได้ 15% จากที่คาดว่าจะโต 15-25% โตได้ 15% ถือว่าพอใจแล้ว"นายสมฤกษ์ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทจะมีแผนกระตุ้นการตลาดออกมาในช่วงไตรมาส 2/53 นี้ ทั้งในกลุ่มสินค้ากึ่งอาหารสำเร็จรูปและอาหาร โดยจะมีการกำหนดแผนงานการโปรโมชั่นในเร็วๆนี้ โดยบริษัทยังคงเน้นตลาดอาหารแปรรูปที่เพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้า ผลิตภัณฑ์ของบริษัททั้ง 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ข้าว เส้น อาหารกึ่งสำเร็จรูป และ ธุรกิจเทรดดิ้งอาหาร

นอกจากนี้ ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร 1 รายเพื่อให้เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่จัดสรรให้กับนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง(PP)จำนวน 27 ล้านหุ้น โดยคุณสมบัติของพันธมิตรที่ต้องการคือความรู้และเทคโนโลยีที่ดี รวมทั้งช่วยเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า

"ถ้าถามว่าการเจรจากับพันธมิตรจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ไหมคงยังตอบไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ต้องใช้เวลาเพื่อพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ เพราะยังมีกรอบเวลาถึง 1 ปี ในการพิจารณาตามกรอบเวลาที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติเพราะกรรมการเพิ่งอนุมัติเพียง 2 สัปดาห์ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเพราะบริษัทยังไม่ต้องการเงินแต่อย่างใด"นายสมฤกษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ