"โรบอท เทรด"ป่วนตลาด DW โบรกฯ หวั่นรายย่อยถูกเอาเปรียบ พร้อมเตือนรักษาวินัยการลงทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 27, 2019 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โปรแกรม AI หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ ที่ใช้ลงทุนผ่าน Robot หรือ หุ่นยนต์ ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ใช้ทำกำไรระยะสั้น

แม้ว่าโปรแกรม AI จะช่วยเพิ่มศักยภาพลงทุน ตัดความรู้สึกที่มีกับภาวะตลาดฯ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการส่งออร์เดอร์รวดเร็วเกินกว่าความสามารถของมนุษย์ปกติ เช่น การส่งคำสั่งตัดหน้า,ซื้อขายหลายออร์เดอร์ในรายวินาที ทำให้ผู้ลงทุนรายย่อยที่มีสัดส่วนมากที่สุดในตลาดหุ้นไทย ได้รับผลกระทบจากความเสียเปรียบไปไม่น้อย

"โรบอท" ป่วนตลาด DW หวั่นรายย่อยเสียเปรียบ

นายบรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง ในฐานะผู้ออกและเสนอขาย DW01 ที่มีมาร์เก็ตแชร์สูงสุดในตลาด เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ตลาด Derivative Warrant (DW) นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักเก็งกำไร เนื่องจากมีอัตราทดสูงกว่าการลงทุนในหุ้นสามัญปกติ 4-5 เท่าตัว แต่ในทางกลับกันตลาด DW บ้านเราก็กำลังเผชิญกับปัญหาโปรแกรม AI เข้ามาปั่นป่วน ด้วยการใช้โปรแกรมเทรด HFT หรือ High Frequency Trading ที่มีการซื้อขายรวดเร็วมาก จนทำให้บางครั้งเกิดออร์เดอร์ที่ผิดพลาด ซึ่งเป็นเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ควรเข้ามาติดตามปัญหานี้อย่างใกล้ชิด เพราะเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการลงทุนของรายย่อย

"ด้วยประสิทธิภาพระบบคอมพิวเตอร์ที่พัฒนารวดเร็ว ทำให้เจอกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ใช้โปรแกรมที่เรียกกันว่า HFT เป็นการส่งออร์เดอร์รวดเร็วกว่าคนปกติ ส่งคำสั่งตัดหน้า เข้า-ออกเร็วมาก เป็นสิ่งที่พบเจอในช่วงหลังๆ นี้เยอะมาก ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่ HFT ส่งออร์เดอร์ซื้อตัดหน้าลูกค้ารายใหญ่ โดยเฉพาะเวลาส่งคำสั่งซื้อขายแบบบิ๊กล๊อตใน DW มีออร์เดอร์ตัดหน้าตลอด เป็นสิ่งที่น่ากังวล โดยที่พบเจอบ่อยครั้งคือการขายแบบ "Naked Short" ซึ่งเป็นการขายแบบไม่มีหุ้น ทำให้เกิดออร์เดอร์ผิดพลาด เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มนักลงทุนประเภทนี้ อาจไม่ได้ดำเนินการตามกฎระเบียบใดๆ หรือไม่ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของการซื้อขาย"

*เปิดบริการสายตรงส่งออร์เดอร์บิ๊กล็อต DW แก้ทาง"โรบอท"ส่งคำสั่งตัดหน้า

นายบรรณรงค์ กล่าวว่า การเข้ามาของ HFT ที่มากขึ้น นักลงทุนรายย่อยที่เป็นนักเก็งกำไรใน DW มีความเสียเปรียบ โดยในแง่ บล.บัวหลวง ที่เป็นผู้ออกสินค้า DW จะดูแลวอลุ่มให้มีจังหวะซื้อขายที่พอดีกับสัญชาตญาณคนทั่วไป และราคา DW จะเคลื่อนไหวตามตารางที่บริษัทกำหนด แต่ข้อเสียที่เกิดขึ้นเวลานี้คือเมื่อมี HFT เข้ามา ทำให้รายย่อยไม่มีโอกาสเข้าไปซื้อขายได้ทัน

ปัญหาดังกล่าวแก้ไขค่อนข้างยาก เพราะยอมรับว่าการใช้ AI เป็นเทรนด์ใหม่ของการลงทุนทั่วโลก ดังนั้น ล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบรับคำสั่งซื้อขายแบบสายตรงให้ลูกค้าโทรศัพท์เข้ามาแจ้งทีมงานสั่งซื้อขายลักษณะ"บิ๊กล็อต"เพื่อป้องกันการส่งออร์เดอร์ตัดหน้าจาก HFT โดยบริษัทจะจับ match ออร์เดอร์ในราคายุติธรรม อิงตามราคาในตารางที่กำหนดไว้ของ DW ถือเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าเพื่อลดความเสี่ยง

"ถ้ามิติของเราคือการลงทุนจริงๆ ถือหุ้นระยะยาว ไม่ได้มาเทรดเร็วมาก ต่อให้มีพวกนี้ก็ปล่อยไปผมว่าเหมือนอยู่กันคนละโลก ถ้าสมมติว่าผมลงทุนระยะยาว คงไม่สนว่าใครจะมาตัดหน้าผม แต่ถ้าจะเข้าเร็วและออกเร็วก็มีสิทธิที่จะเจอแบบนี้ เข้าใจว่าตลาดหุ้นทั่วโลกมีปัญหาเช่นนี้เหมือนกัน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์บางประเทศก็มีแนวคิดสร้างแพลตฟอร์มตลาดใหม่เพื่อปกป้องนักลงทุนรายย่อยด้วยซ้ำ เพราะนักลงทุนทั่วไปคงไม่มีความสามารถเข้าถึงการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะระบบเทรดดิ้งแบบนี้ ผู้ที่สามารถทำแบบนี้ได้คงต้องมีอะไรบางอย่างทำให้สามารถพัฒนาได้รวดเร็ว"นายบรรณรงค์ กล่าว

*ปรับ "MINDSET" ฝ่าความเสี่ยงสร้างกำไรด้วย DW-Blocktrade

นายบรรณรงค์ กล่าวว่า ถ้าผู้ลงทุนที่ต้องเอาชนะและทำกำไรบนตราสาร DW และ Blocktrade ที่มีความเสี่ยงจากอัตราทดที่สูง จำเป็นต้องมี MINDSET ที่ชัดเจน อันดับแรกต้องเข้าใจว่าเป็นสินค้าประเภทเก็งกำไร มีข้อดีคือเป็นตราสารที่มี Gearing มีอัตราทดสูงทำให้ผู้ลงทุนใช้เงินน้อยกว่าการลงทุนในตราสารทุนปกติแต่สามารถทำกำไรได้มากกว่าหลายเท่า แต่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุดคือความเสี่ยงว่าจะยอมรับผลขาดทุนได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนั้น คือต้อง Cut loss หรือตัดขาดทุนให้เป็น คือต้องลงทุนแบบมีวินัย

ส่วนในตราสารที่ซื้อขายด้วย Blocktrade ผู้ลงทุนควรต้องมีวินัย วางเงินไว้ให้เกินกว่าหลักประกันขั้นต่ำที่กำหนด เพื่อเวลาหุ้นตกลงมาจะได้ไม่ต้องโดนบังคับขาย หรือ Force sell

"สำหรับผู้ที่นิยม DW ต้องเข้าใจว่าเป็นสินค้าประเภท "เก็งกำไร" อับดับแรกคือต้องทราบความเสี่ยงของตัวเอง เช่น ผู้ที่มีเงินลงทุน 200,000 บาท ยอมรับขาดทุนได้ 10% หรือ 20,000 บาท ถ้ากรณีมาซื้อ DW ทั้งหมดมีอัตราทดมากกว่าหุ้นสามัญปกติ 4-5 เท่า สามารถเลือกลงทุนได้ทั้งฝั่งขึ้นและลง ในภาวะที่หุ้นสามัญที่อิงกับ DW นั้นราคาปรับลดลง 10% ราคา DW จะลดลงมา 40-50% ถ้าผู้ลงทุนยังไม่เข้าใจเพียงพอก็อาจผลขาดทุนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ผู้เล่น DW ต้องบริหารความเสี่ยงเงินลงทุนให้เหมาะสม กระจายความเสี่ยงไปลงทุนสินทรัพย์ประเภทอื่นด้วย ไม่ใช่นำมาเก็งกำไรใน DW อย่างเดียวทั้งร้อยเปอร์เซนต์ เพราะคาดหวังว่าจะรวย ผมบอกเลยว่าเป็นสิ่งที่อันตรายมาก

และสิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือ "คัทลอส" เพราะถ้าพิจารณาตามสถิติผู้เล่น DW ที่ประสบความสำเร็จ เวลาขาดทุนจากตราสารประเภทใดก็ตาม มีวินัยการลงทุนคัทลอสได้เร็ว เวลาทำกำไรจะได้เป็นไม้ใหญ่ ส่วนผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ขาดทุนครั้งละไม้ใหญ่ๆ เป็นเปอร์เซ็นต์สูงหลายๆครั้ง แต่พอมีกำไรเล็กน้อยก็ขาย การเล่นตราสารที่มีอัตราทดสูงๆ ควรต้องเข้าเร็วและออกเร็ว ไม่ใช่เรื่องการออมหุ้นลงทุนระยะยาว ฉะนั้นเรื่องของ MINDSET ต้องชัด โดยเฉพาะเรื่องของจิตใจ บริหารความเสี่ยงควรยึดเป็น "หัวใจ" หลักของการลงทุนในตราสารประเภทนี้

ส่วน Blocktrade เช่นเดียวกัน แต่ปัญหาที่พบมากคือโดน Force sell วิธีคือควรวางเงินไว้ให้เกินกว่าหลักประกันขั้นต่ำที่กำหนด เพียงแต่บางคนจะคิดว่ามีทุนแค่ไหนก็เล่นให้เต็มจำนวน มองเป็นลักษณะ "Overtrade" ควบคุมความเสี่ยงยาก ยิ่งถ้าไม่มีวินัยด้าน Cut loss บอกเลยว่าจะเจ็บตัวหนัก สำหรับลูกค้าของบริษัท ในช่วงหลังแนวโน้มดูแลตัวเองดี มีการเตรียมเงินไว้เผื่อหลักประกันมากขึ้น"

*DW-Blocktrade บิดเบือนกลไกซื้อขายในตลาดหุ้นไทยหรือไม่?

ประเด็นนี้ นายบรรณรงค์ กล่าวว่า ตราสารอนุพันธ์ DW-Blocktrade เป็นหนึ่งในทางเลือกให้กับผู้ลงทุนที่ใช้เพื่อ "เก็งกำไร" และ "ป้องกันความเสี่ยง" เพราะสามารถทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลง มีอัตราทดที่ทำให้เพิ่มอำนาจการซื้อให้กับรายย่อย คล้ายกับสมัยอดีตที่รายใหญ่ใช้เครื่องมือประเภท "มาร์จิ้นโลน" จึงมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบตราสารให้บริการเท่านั้น

หากมองประเด็นที่สร้างความบิดเบือนกับกลไกซื้อขายปัจจุบัน คิดว่าน่าจะเป็นเรื่อง "ขาช๊อร์ต" ที่มีปริมาณมากขึ้น ซึ่งผู้ที่เล่น "ขาช๊อร์ต" มองว่าหุ้นขึ้นมาแพงแล้ว มีมุมมองที่แตกต่างกับผู้ที่เล่นหุ้นขาขึ้นเพียงอย่างเดียว โดยส่วนตัวมองว่าเครื่องมือเหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุนจากการขึ้น-ลงของตลาดหุ้น

"ถ้าสมัยในอดีตไม่มีเครื่องมือประเภทนี้จะคุ้นเคยกับ "เครดิต บาลานซ์" หรือ "มาร์จิ้นโลน" ผู้ที่เข้าถึงได้ต้องเป็นนักลงทุนรายใหญ่ มีจำนวนจำกัดในบ้านเรา ซึ่งรายใหญ่ใช้มาร์จิ้นโลนสร้างอำนาจในการซื้อขายที่มากกว่าปกติ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคืออำนาจพวกนี้ลดลง รายย่อยก็สามารถมีวอลุ่มเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน กลายเป็นว่าอำนาจในการซื้อขายจากกลุ่มเดิมๆที่ใช้ "มาร์จิ้นโลน" ก็ลดลงไป

ปัจจุบันสินค้า SSF ที่เชื่อมกับ Blocktrade มียอดคงค้างทั้งระบบประมาณ 25,000 ล้านบาท ไม่ได้น้อยกว่า "มาร์จิ้นโลน" เป็นการเปลี่ยนรูปแบบตราสารไปเท่านั้น ผู้เล่นก็เปลี่ยนไป จึงมีมุมมองว่าไม่ได้ช่วยให้ใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แน่นอนความผันผวนจะมีมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมาพิจารณากัน หรืออาจเกิดความไม่เหมาะสม หรือกลายเป็นฟองสบู่ในระบบบางช่วงเวลามากเกินไปหรือไม่ ในอดีตมาร์จิ้นโลนก็เคยทำให้บริษัทหลักทรัพย์เสียหายไปมาก สุดท้ายเครื่องมือทุกอย่างต้องมีขอบเขตที่เหมาะสมในระดับที่เพียงพอ ควบคุมได้หรือไม่เท่านั้นเอง"

ปัจจุบันจำนวน DW ที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นเดือน เม.ย.62 มีจำนวน 1,470 รุ่น แบ่งเป็น Call DW 1,192 รุ่นและ Put DW 278 รุ่น โดยมีหลักทรัพย์อ้างอิงที่เสนอขายทั้งสิ้น 112 ตัว

*แผนออกผลิตภัณฑ์การเงินในตลาดทุนใหม่ในปีนี้

บล.บัวหลวง เป็นผู้ออก DW สูงสุดในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องคิดเป็น 19.75% ของจำนวน DW ที่มีการซื้อขายทั้งหมดในตลาด และมีจำนวนหลักทรัพย์อ้างอิงให้เลือกคิดเป็น 68.75% ของจำนวนหลักทรัพย์อ้างอิงที่มีทั้งหมดในอุตสาหกรรม DW โดย DW01 ของบล.บัวหลวงครองมาร์เก็ตแชร์ของยอดถือครอง DW จากนักลงทุนสูงสุดในระบบอยู่ที่ 29.2% นอกจากนี้ยังมีส่วนแบ่งการตลาดเมื่อคิดจากมูลค่าการซื้อขายสะสมในเดือน เม.ย.62 อยู่ที่ 39.7% และ DW อ้างอิงหุ้นรายตัวมีมาร์เก็ตแชร์เมื่อคิดจากมูลค่าการซื้อขายสะสมอยู่ที่ 45.2%

นายบรรณรงค์ กล่าวว่า นอกจาก บล.บัวหลวงจะมีแผนพัฒนาระบบซื้อขายสินค้า DW โดยสายตรงเข้ามาที่บริษัท เพื่อแก้ไขปัญหา HFT เข้ามาซื้อขายแซงตัดหน้า นอกจากนี้ ยังมีแอพพลิเคชั่นเครื่องมือซื้อขายหุ้นทางอินเทอร์เน็ตรูปแบบใหม่ คือ"บัวหลวงเทรดมาสเตอร์" เบื้องต้นเปิดตัวกลางเดือน พ.ค.นี้ภายในงาน money expo 2019 โดยจะมีระบบที่ตอบโจทย์นักลงทุน เช่น ผู้เทรด DW แพ้โรบอทเทรด เนื่องจากไม่ได้เฝ้าตลาด, Cut loss ไม่ได้ หรือล็อกกำไรไม่ถูก ทางโปรแกรมจะดำเนินการอัตโนมัติเพียงแค่ส่งคำสั่งซื้อหรือขายครั้งเดียว ตัดปัญหาเรื่องเฝ้าหน้าจอ ตัดอารมณ์ที่มีต่อภาวะตลาด เพื่อช่วยนักลงทุนวางแผนการลงทุนได้อย่างมีวินัย

เมื่อปลายปี 61 บล.บัวหลวง ได้ออก DR ในตลาดเวียดนาม หรือ ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ เป็นตราสารชนิดใหม่ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ผู้ลงทุนในไทยที่ต้องการลงทุนในหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศได้โดยผ่านการซื้อขาย DR ที่จดทะเบียนให้ซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นไปตามหลักนโยบายของบริษัทคือต้องการออกผลิตภัณฑ์ที่ง่ายและสะดวกกับผู้ลงทุน

https://youtu.be/srrE5MD0lmE


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ