"Weekly Highlight" (8-12 มิ.ย.) ต่างชาติลุยหุ้นไทยแค่ "HOT MONEY" "ตกรถ" ยังมีลุ้น 1,500 จุด !!

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 8, 2020 08:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"Weekly Highlight" สัปดาห์นี้ (8-12 มิ.ย.) ไปเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 8 มิถุนายน 2563

เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (1-5 มิ.ย.) SET INDEX ทะยานขึ้นไปแตะจุดสูงสุดรอบกว่า 3 เดือน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 6.9% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นมากที่สุด 17.5% รองลงมาคือกลุ่มปิโตรเคมี เพิ่มขึ้น 15.6% และสุดท้าย คือกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 10.2%

สำหรับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในแนวโน้มสดใส ตามทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชีย ขานรับกับกระแสไหลเข้าของฟันด์โฟลว์ หรือเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่ยังคงซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยติดต่อกันหลายวันทำการ ส่งผลให้มูลค่าซื้อขายบางวันเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 แสนล้านบาท

อานิสงส์ของกระแสฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยรอบนี้ ช่วยผลักดันราคาหุ้นไซด์มาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่หลายบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความคาดหวังการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาลเพื่อช่วยฟื้นฟู และเยียวยาเศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 หลังจากได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในระยะที่ 3 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ส่วนมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ในระยะที่ 4 สำหรับกิจการที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ โรงเรียน ผับ บาร์ ปัจจุบันศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) อยู่ในขั้นตอนเตรียมมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับ คาดว่าจะมีความชัดเจนในระยะถัดไป

ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในไทยเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 8 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,112 ราย ส่วนผู้ที่รักษาหายมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 2,972 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสมรวมคงที่ 58 ราย

เกาะติดกับสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก พบว่าขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกือบ 7 ล้านราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสมยังคงเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 403,000 ราย

สำหรับปัจจัยสำคัญที่นักวิเคราะห์เฝ้าติดตามกันในสัปดาห์นี้คือตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของหลายประเทศ ได้แก่ ตัวเลขส่งออกรอบเดือน พ.ค. ของประเทศจีน ,ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2563 ของประเทศญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีต่อนโยบายอัตราดอกเบี้ยและมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมกลางสัปดาห์นี้ด้วย

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) วิเคราะห์ภาพรวม SET INDEX รอบสัปดาห์ยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น เบื้องต้นประเมินกรอบแนวต้านไว้หลายระดับ เริ่มตั้งแต่ 1,436 จุดไปจนถึง 1,460 จุด จุดและหากผ่านได้มีโอกาสขึ้นไปทดสอบแนวต้านสำคัญที่ 1,500 จุดได้เช่นกัน แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะกลับมาคึกคักขานรับกับกับกระแสไหลเข้าของฟันด์โฟลว์ แต่นักวิเคราะห์ยังย้ำเตือนว่าอาจเป็นเงินร้อน หรือ Hot Money ที่เข้ามาเก็งกำไรในช่วงสั้นๆเท่านั้น

"ต้องยอมรับว่าดัชนีหุ้นไทยในวันนี้อยู่ในโซนแพง เมื่อเทียบกับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบัน สะท้อนจาก forward P/E เกือบแตะ 20 เท่า และปัจจัยสนับสนุนจากกระแสฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้ามาในหุ้นไทยรอบนี้จะยาวนานหรือไม่ คงยังตอบได้ยาก แต่ฝ่ายวิจัยฯตั้งสมมติฐานว่าฟันด์โฟลว์เข้ามาเป็นกระแสเงินที่อั้นจากความกังวลวิกฤติโควิด-19 เป็นไปได้ว่าอาจเป็นเงินร้อน หรือ Hot Money เป็นลักษณะเข้ามาเก็งกำไรช่วงสั้นเท่านั้น และจังหวะไล่ราคาของนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ซื้อหุ้นที่ราคายังปรับตัวขึ้นไม่เยอะ ทำให้มีความเสี่ยงโดนแรงขายทำกำไรได้ตลอดเวลาเช่นกัน และอีกหนึ่งสมมติฐานคือแรงซื้อนักลงทุนต่างชาติช่วง 3-4 วันที่ผ่านมาเข้ามาซื้อเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับที่ขายมาอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาจึงมองว่าแรงซื้อสั้นๆรอบนี้อาจไม่ได้มีนัยสำคัญ" นายมงคล กล่าว

ด้านธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทรอบสัปดาห์นี้จะอยู่ที่ 31.30-31.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนครึ่ง โดยทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ประกอบกับน่าจะมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึง dot plots ชุดใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาสินค้านำเข้า/ส่งออกเดือนพ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดอาจรอติดตามสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ท่าทีระหว่างสหรัฐฯ-จีน และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดค้าปลีกด้วยเช่นกัน

https://youtu.be/MA8nhLIJuh8


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ