นายรักษ์ วรกิจโภคาทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ [BAM] เปิดเผยว่า บริษัทเร่งเจรจาความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และโบรกเกอร์อสังหาริมทรัพย์ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อสรุป MOU การบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ในพอร์ตมาจับกลุ่มผู้เช่าทรัพย์ที่น่าจะเพิ่มตัวขึ้นในช่วงเศรษฐกิจผันผวน คาดว่าจะมีการลงนามกันต้นเดือนหน้า ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการจัดการกับพอร์ตทรัพย์ของ BAM
"วันนี้ BAM จะผูกสัมพันธภาพกับ developer ใหญ่ ๆ ที่จะเอาทรัพย์เราไปบริหารจัดการเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าได้ seamless มากขึ้น ขณะเดียวกันอาจมีการทำ consortium ในปีนี้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในตลาดฯ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็น Key Success ที่จะฝ่าวิกฤติในปีนี้ไปได้ " นายรักษ์ กล่าว
นางสาววนัฌชา ศรีโพธิ์ทองนาค นักลงทุนสัมพันธ์ BAM เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้ายอดเรียกเก็บหนี้ในปีนี้ที่ 17,800 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้เสีย (NPL) 10,800 ล้านบาท และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) 7,000 ล้านบาท
แนวโน้มไตรมาส 2/68 มั่นใจยอดเรียกเก็บหนี้จะทะลุเป้า 4,721 ล้านบาท เนื่องจากมี backlog ก้อนใหญ่หนุน โดยในส่วน NPL คาดว่าจะได้รับการชำระหนี้จากลูกหนี้รายใหญ่ประมาณ 2 พันล้านบาท และอีก 1 พันล้านบาทสำหรับ NPA นอกจากนี้ ยังมีลูกหนี้รายใหญ่และกลางบางรายที่ได้เลื่อนชำระเงินในไตรมาส 1/68 มาเป็นไตรมาส 2/68 อีกประมาณ 1 พันล้านบาท ส่งผลให้ยอดเรียกเก็บจะออกมาในทิศทางที่ดี
อีกทั้งภาพรวมการจำหน่ายทรัพย์ที่บริษัทฯ ได้เข้าร่วมในงาน MONEY EXPO 2025 ที่ผ่านมา มีนักลงทุนและประชาชนทั่วไปสนใจจองซื้อ NPA มากถึง 278,579,000 บาท สูงกว่าประมาณการ 200 ล้านบาทที่ตั้งไว้ ขณะเดียวกัน BAM ได้เจรจาความร่วมมือทำข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) กับพาร์ทเนอร์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 2 รายในการพัฒนาทรัพย์พร้อมขาย ซึ่งจะมีความชัดเจนในไตรมาส 2/68
สำหรับไตรมาส 1/68 ยอมรับว่าเป็นไตรมาสที่ท้าทายต่อการดำเนินการของ BAM เนื่องจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนที่สูง และการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดยิ่งขึ้น โดย นางสาววนัฌชา เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1/68 บริษัทฯ มียอดเรียกเก็บหนี้ 3,192 ล้านบาท โดย 1,237 ล้านบาทมาจาก NPA และอีก 1,955 ล้านบาทจาก NPL ขณะที่ทำกำไรสุทธิ 217 ล้านบาท ลดลง 59% จากไตรมาสก่อน และลดลง 49% จากไตรมาสเดียวกันเมื่อปีก่อน
ส่วนการธุรกิจ Joint Venture ในไตรมาส 1/68 ได้รับส่วนแบ่งกำไรจาก บบส.อารีย์ 3 ล้านบาท และ บบส.อรุณ 5 ล้านบาท โดยทั้งสองบริษัทได้ตั้งเป้าขยายพอร์ตในครึ่งปีหลังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำไร เชื่อว่าจะสร้างแบ่งส่วนกำไรให้ BAM ได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับการซื้อ NPL ในไตรมาส 1/68 ชะงักไปบ้าง เพราะอุปทานจากธนาคารออกมาช้า และออกมาในช่วงที่ BAM อยู่ระหว่างการสอบทานพอร์ตมูลค่า 70,033 ล้านเดิม ทำให้ไม่มีการซื้อ NPL เพิ่มเติมเลย เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/67 ที่ BAM ลงทุนซื้อ NPL ไปถึง 6,919 ล้านบาท