ทริสฯคงเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่มีประกัน QH ที่ "A-" แนวโน้ม "Negative"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 20, 2012 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. ควอลิตี้ เฮ้าส์ (QH) ที่ระดับ “A-" พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่วงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A-" โดยแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Negative" หรือ “ลบ" ทั้งนี้บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระคืนหนี้ระยะสั้นบางส่วนและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานที่ยาวนานของบริษัทในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดบ้านจัดสรรระดับราคาปานกลางถึงสูง และรายได้ที่สม่ำเสมอจากหลากหลายแหล่งทั้งเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์และอาคารสำนักงาน รวมทั้งธุรกิจการลงทุน ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความคล่องตัวทางการเงินจากการถือครองเงินลงทุนในบริษัทร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลง แนวโน้มขาขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรง และการที่บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทจะปรับลดลงภายหลังวิกฤตอุทกภัย ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเปลี่ยนเป็น “Stable" หรือ “คงที่" ได้หากบริษัทแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวและมีรายได้ที่เติบโตโดยที่ยังรักษาภาระหนี้ไม่ให้ปรับเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากบริษัทต้องใช้เวลานานกว่าที่คาดในการสร้างสถานะทางการเงินให้กลับไปแข็งแกร่งดังเดิม

ทริสเรทติ้งรายงานว่า QH เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทยซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในตลาดบ้านจัดสรรระดับราคาปานกลางถึงสูง บริษัทก่อตั้งในปี 2526 โดย บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์(LH) กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ณ เดือนมิถุนายน 2554 ประกอบด้วยบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ร่วมกับตระกูลอัศวโภคิน (25%) และ The Government of Singapore Investment Corporation Pte. Ltd. (11%) บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในตลาดที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในตลาดบ้านเดี่ยวระดับราคาปานกลางถึงสูง นอกจากนี้ผู้บริหารของ QH ยังมีผลงานที่สะท้อนความสามารถระดับสูงในการพัฒนาสินค้าที่อยู่อาศัยซึ่งมีจุดแข็งในด้านความหลากหลายทั้งระดับราคาและกลุ่มลูกค้าด้วย

ทั้งนี้ คาดว่าหลังวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 QH จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากการมีหน่วยที่อยู่อาศัยเหลือขายที่เกินความต้องการซื้อ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่แน่นอน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์น้ำท่วม อีกทั้งจะต้องปรับแผนธุรกิจและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับคืนมา ณ สิ้นปี 2554 มูลค่าโครงการคอนโดมิเนียมของบริษัทที่ยังไม่ได้โอนอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท และมียอดขายโครงการคอนโดมิเนียมที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) มูลค่า 3.3 พันล้านบาท ส่วนมูลค่าโครงการคอนโดมิเนียมที่พร้อมขายอยู่ที่ 6.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ โครงการคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ของบริษัทจะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมโอนได้ภายในปี 2556

รายได้ของ QH ในปีช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ในระดับต่ำกว่าประมาณการ โดยรายได้เต็มปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะฟื้นตัวช้ากว่าผู้ประกอบการรายอื่นที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าเนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนรายได้จำนวนมากจากโครงการแนวราบและมีโครงการคอนโดมิเนียมที่คาดว่าจะโอนได้ในปี 2555 ไม่มากนัก

อัตรากำไรของบริษัทได้รับแรงกดดันจากต้นทุนจากการดำเนินงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 QH มีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ 61.8% เพิ่มขึ้นจาก 52.4% ณ สิ้นปี 2553 ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทน่าจะได้รับแรงกดดันในระดับหนึ่งโดยจะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องต่อไปในช่วงปี 2555 เนื่องจากบริษัทมีเงินลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการเพิ่มขึ้น บริษัทมีสภาพคล่องในระดับที่น่าพอใจแม้ว่าจะอ่อนแอลงในไตรมาสหลัง ๆ ทั้งนี้ สภาพคล่องของบริษัทยังได้รับแรงหนุนจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์ด้วย

จากวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ทำให้คาดว่ายอดขายที่อยู่อาศัยจะชะลอลงโดยเฉพาะในทำเลที่เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายอาจมีรายได้ที่เติบโตลดลงหรือประสบกับภาวะขาดทุนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554

ทั้งนี้ นโยบายสนับสนุนด้านภาษีและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปลอดดอกเบี้ยของรัฐบาลอาจไม่มีผลกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาสต่อ ๆ ไปข้างหน้าเนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถดถอยลง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยังคงมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนแรงกดดันด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลมีผลบังคับใช้ และภาระหนี้ของผู้ประกอบการที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ