BTS เซ็นสัญญารับงานเดินรถ-ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายกับ กทม.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 4, 2012 09:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)เปิดเผยว่า วานนี้ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการของ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(บีทีเอสซี) ซึ่งเป็น บริษัทย่อยของบริษัทฯ พร้อมด้วย รศ. ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ประธานกรรมการ และนายอมร กิจเชวงกุลกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (กรุงเทพธนาคม) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามร่วมกันในสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระยะเวลาสัญญา 30 ปี

ภายใต้สัญญาการให้บริการเดินรถระยะยาวดังกล่าว บีทีเอสซีจะเป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครทั้งหมดจนถึงปี 2585 ซึ่งเส้นทางในโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ และ ช่วงวงเวียนใหญ่-บางหว้า (ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เปิดให้บริการเป็นต้นไป)(ระยะทางรวม 7.50 กิโลเมตร) และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง (ระยะทางรวม5.25 กิโลเมตร) และจะรวมเส้นทางเดิมของสัมปทานภายหลังครบกำหนดอายุสัมปทานในวันที่ 4 ธันวาคม 2572 (ระยะทางรวม 23.50 กิโลเมตร)

ทั้งนี้ การให้บริการเดินรถจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 จนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2585 โดยบีทีเอสซีจะได้รับค่าจ้างรายปี (ชำระให้เป็นรายเดือน) จากกรุงเทพธนาคมสำหรับการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงตลอดระยะเวลา 30 ปี

ในปัจจุบัน บีทีเอสซีเป็นผู้บริหารและรับรายได้ค่าโดยสารจากระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสในส่วนเส้นทางเดิมของสัมปทานจากกรุงเทพมหานครซึ่งมีอายุ 30 ปี (สิ้นสุดวันที่ 4 ธันวาคม 2572) และมีสัญญาว่าจ้างระยะสั้นในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงจากกรุงเทพธนาคมสำหรับส่วนต่อขยายจากเส้นทางเดิมของสัมปทาน คือ ส่วนต่อขยายสายสีลม (สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่) และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (อ่อนนุช-แบริ่ง) นอกจากนี้ บีทีเอสซียังได้รับจ้างตามสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงอายุหนึ่งปีสำหรับส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงวงเวียนใหญ่-บางหว้า ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เปิดให้บริการเป็นต้นไป

สัญญาการให้บริการเดินรถระยะยาวฉบับใหม่นี้ จะนำมาใช้แทนสัญญาระยะสั้นและสัญญาอายุหนึ่งปีที่ทำไว้เดิม และจะทำให้บีทีเอสซีเป็นผู้ได้สิทธิในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครทั้งหมดเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ไปจนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2585 ทั้งนี้ หน้าที่ของบีทีเอสซีตามสัญญาการให้บริการเดินรถระยะยาวฉบับใหม่นี้จะรวมถึง การจัดหารถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถ การบริหาร และการซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้า การจัดเก็บค่าโดยสาร ตลอดจนการบริหารสะพานทางเดินเชื่อมต่อสถานี และพื้นที่จอดแล้วจร

สัญญาการให้บริการเดินรถระยะยาวนี้จะช่วยให้กรุงเทพมหานครสามารถคงมาตรฐานที่ดีในการให้บริการแก่ผู้โดยสาร และทำให้การบริหารโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการให้ผู้ที่มีประสบการณ์เป็นผู้บริหารระบบทั้งเส้นทางเดิมของสัมปทานและส่วนต่อขยายเพียงรายเดียว

นอกจากนี้ บีทีเอสซีเองก็จะสามารถดูแลการลงทุนด้านการจัดหาขบวนรถเพิ่มเติมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการมีสัญญาการให้บริการเดินรถระยะยาวนี้ เพราะบีทีเอสซีจะสามารถวางแผนล่วงหน้าเพื่อจัดหาขบวนรถเพิ่มได้ทันการและสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสาร และมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตมากขึ้นตามปริมาณที่เพิ่มขึ้นของขบวนรถที่จะต้องจัดหาระยะยาว ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับนี้ก็จะตกแก่ผู้โดยสาร นอกเหนือไปจากการได้รับความสะดวกจากโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางขึ้น

การเข้าทำสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครทั้งหมดเป็นระยะเวลา 30 ปีนี้ จะสร้างกระแสรายได้ที่สม่ำเสมอให้แก่บีทีเอสซีเพิ่มเติมจากบรรดารายได้จากธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งค่าจ้างรายปีภายใต้สัญญาการให้บริการเดินรถระยะยาวนี้ กำหนดขึ้นตามปัจจัยหลักต่าง ๆ เช่น จำนวนขบวนรถที่จะใช้ในการให้บริการและต้นทุนของขบวนรถดังกล่าว ระยะทางวิ่งของรถ (car kilometer) จำนวนผู้โดยสาร อัตราเงินเฟ้อ ค่าไฟฟ้าค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษา เป็นต้น โดยได้มีการกำหนดวิธีการในการปรับค่าจ้างสำหรับปัจจัยหลักที่มีการผันแปรไว้ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินอันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจให้แก่บีทีเอสซี

มูลค่าการว่าจ้างตลอดอายุสัญญาสามสิบปีนี้อยู่ในวงเงินประมาณ 188 พันล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยค่าจ้างโดยประมาณสำหรับส่วนต่อขยายสายสีลมและส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทจะมีจำนวน 1,800 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) สำหรับปีบัญชี 2557/2558 และ 6,500 ล้านบาท(รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) สำหรับเส้นทางเดิมของสัมปทานหลังครบกำหนดอายุสัมปทาน สำหรับปีบัญชี 2573/2574 ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครจะเป็นผู้รับรายได้ค่าโดยสารจากโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครทั้งหมด โดยบีทีเอสซีจะได้รับค่าจ้างรายปี (ชำระเป็นรายเดือน)

เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาการให้บริการเดินรถระยะยาวนี้ บีทีเอสซีมีแผนการที่จะจัดซื้อขบวนรถเพิ่ม เพื่อจะได้จัดหาขบวนรถได้อย่างแน่นอน ซึ่งบีทีเอสซีได้วางแผนที่จัดซื้อขบวนรถเพิ่มประมาณ 100 ตู้ ในช่วงระยะเวลา 30 ปีของสัญญา เพื่อนำมาใช้ในเส้นทางเดิมของสัมปทานและในโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ บีทีเอสซีจะต้องโอนขบวนรถทั้งหมดให้กรุงเทพธนาคมหรือกรุงเทพมหานครเมื่อสิ้นสุดอายุของสัญญาการให้บริการเดินรถระยะยาว

อนึ่ง สำหรับงานโครงสร้างระบบ (Civil Works) และระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (Electrical and Mechanical Works) นั้น กรุงเทพมหานครจะเป็นผู้ลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ