TT&T เผยสถานการณ์บริษัทไม่แน่อนเป็นเหตุผู้สอบฯไม่แสดงความเห็นต่องบQ1/56

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 17, 2013 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. ทีทีแอนด์ที (TT&T) ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ตามที่ สำนักงาน เอ.เอ็ม.ที. แอสโซซิเอท ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นในการสอบทานงบการเงิน ของบริษัทฯ และบริษัทย่อย สำหรับงวดสามเดือน สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2556 นั้น ผู้สอบบัญชีได้รายงานในงบการเงินว่า เนื่องจากผลของความไม่แน่นอนจากเหตุการณ์ข้อจำกัดของสถานการณ์ที่อยู่เหนือการควบคุมของกิจการ และมีความไม่แน่นอนหลายเหตุการณ์ซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กันและมีความเป็นไปได้ที่จะสะสมผลกระทบต่องบการเงินเพิ่มมากขึ้นซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่สามารถประเมินได้

1. งบแสดงฐานะการเงินรวม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2556 และวันที่ 31 ธันวาคม 2555 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีผลขาดทุนสะสมเกินทุนเป็นจำนวนเงิน 15,523 ล้านบาท และ 15,723 ล้านบาท ตามลำดับ (เฉพาะของบริษัทฯ: 15,308 ล้านบาท และ 15,507 ล้านบาท ตามลำดับ) และมีหนี้สินหมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนเป็นจำนวนเงินประมาณ 1,267 ล้านบาท และ 1,211 ล้านบาทตามลำดับ(เฉพาะของ บริษัทฯ: 471 ล้านบาท และ 415 ล้านบาทตามลำดับ) ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีสาระสำคัญ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยอย่างมากเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของบริษัทฯและบริษัทย่อย

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารแผนฯ เชื่อว่าการจัดทำงบการเงินตามข้อสมมติฐานว่า บริษัทฯและบริษัทย่อยจะดำเนินงานอย่างต่อเนื่องนั้นเหมาะสม เนื่องจากเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 ศาลล้มละลายกลางได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการและผู้บริหารเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว ดังนั้น งบการเงินนี้จึงได้จัดทำขึ้นตามข้อสมมติฐานว่าบริษัทฯ และบริษัทย่อย จะดำเนินงานต่อเนื่องโดยถือว่าการเปลี่ยนเป็นตัวเงินของสินทรัพย์และการชำระหนี้สินจะเป็นไปตามปกติธุรกิจ ดังนั้น จึงไม่ได้ปรับปรุงมูลค่าสินทรัพย์ในราคาที่อาจขายได้และไม่ได้ปรับปรุงหนี้สินตามจำนวนที่ต้องจ่ายคืนและจัดประเภทบัญชีใหม่ซึ่งอาจจำเป็นถ้าบริษัทฯ ไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้

2. บริษัทฯ มีข้อโต้แย้งหลายเรื่องกับบริษัทผู้ให้สัมปทานซึ่งยังไม่มีข้อยุติ โดยส่วนที่บริษัทผู้ให้สัมปทานยื่นขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ประกอบด้วยมูลหนี้ค่าใช้จ่ายตามหนังสือเรียกเก็บค่าขาดประโยชน์ ค่าเสียหาย มูลหนี้ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดี และอื่นๆ รวมทั้งมูลหนี้อันเกิดจากการส่งมอบอุปกรณ์ในระบบอันเนื่องมาจากสัญญาสัมปทาน ซึ่งมูลหนี้ต่างๆ เหล่านี้รวมเป็นจำนวนเงิน 38,372 ล้านบาท (โดยไม่รวมมูลหนี้การค้าปกติตามสัญญาสัมปทานซึ่งบริษัทฯ ได้บันทึกในงบการเงินแล้ว) ปัจจุบันอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาและนัดไต่สวนมูลหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผลที่สุดของรายการดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนและไม่สามารถคาดการณ์ได้ในขณะนี้

ดังนั้น บริษัทฯจึงไม่ได้ตั้งสำรองผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากรายการดังกล่าวไว้ในงบการเงิน อย่างไรก็ตามแผนฟื้นฟูกิจการลงวันที่ 28 ธันวาคม 2553 ได้กำหนดแนวทางบรรเทาผลกระทบต่อกระแสเงินสดสำหรับการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้บริษัทผู้ให้สัมปทานไว้แล้วในกรณีที่บริษัทฯ มีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายมูลหนี้ที่กล่าวข้างต้น และในขณะเดียวกันบริษัทฯ ได้เรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทผู้ให้สัมปทานเป็นจำนวนเงิน 26,332 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ได้รับคำวินิจฉัยชี้ขาดจากสถาบันอนุญาโตตุลาการให้ได้รับชำระจำนวนเงินดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันข้อพิพาทนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ดังนั้นบริษัทฯจึงไม่ได้บันทึกรายได้ดังกล่าวไว้ในงบการเงิน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2556 ทีโอทีได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขออนุญาตเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อเรียกร้องในข้อพิพาทค่าเสียหายจากการผิดสัญญาร่วมการงานฯ ภายหลังจากศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ จำนวนเงินรวม 20,822 ล้านบาท ศาลล้มละลายกลางนัดพิจารณาคำร้องในวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 ขณะนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงและเอกสาร เพื่อยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องของทีโอทีต่อศาลล้มละลายกลาง

3. เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ปรับปรุงหนี้สินตามบัญชี ณ วันดังกล่าว (ยกเว้นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 โดยไม่รวมมูลหนี้การค้าปกติตามสัญญาสัมปทานที่บริษัทฯ ได้บันทึกในงบการเงินแล้ว) จำนวน 18,315 ล้านบาท (เฉพาะบริษัทฯ: 19,058 ล้านบาท) ให้ตรงกับคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) และ/หรือตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ไม่มีการปรับปรุงหนี้สินดังกล่าวในไตรมาส 1/56 เนื่องจากไม่ได้รับคำสั่งจากจพท. เพิ่มเติม นอกจากนั้น ณ วันที่ 31 มีนาคม 2556 ค่าดอกเบี้ยระหว่างกาลที่บันทึกไว้ในบัญชีหนี้สินตามแผนฟื้นฟูกิจการจำนวนรวม 3,933 ล้านบาท (เฉพาะบริษัทฯ: 3,937 ล้านบาท) ซึ่งหากบริษัทฯ ชำระหนี้ครบถ้วนตามแผนแล้ว เจ้าหนี้แต่ละกลุ่มจะปลดภาระหนี้ค่าดอกเบี้ยระหว่างกาลดังกล่าวให้แก่บริษัททั้งจำนวน

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2556 และวันที่ 31 ธันวาคม 2555 บริษัทฯ มีหนี้สินตามแผนฟื้นฟูกิจการและหนี้สินตามแผนฟื้นฟูกิจการรอแปลงเป็นทุน จำนวนรวม 7,318 ล้านบาท และ 7,348 ล้านบาท ตามลำดับ (เฉพาะบริษัทฯ: 8,079 ล้านบาท และ 8,109 ล้านบาท ตามลำดับ) ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งขึ้นอยู่กับคำสั่งถึงที่สุด โดยไม่อาจทราบผลในขณะนี้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการถูกจำกัดขอบเขตโดยสถานการณ์

4. งบการเงินรวม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2556 และวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ผลขาดทุนจากการด้อยค่าสะสมของที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ จำนวน 2,740 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเกิดจากการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าในปี 2553 เป็นจำนวน 1,630 ล้านบาท ในจำนวนนี้ได้รวม 276 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของบริษัทย่อย (บริษัท ทีทีแอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด และบริษัท ทริปเปิลที โกลบอล เน็ท จำกัด) นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังไม่ได้รับงบการเงินสำหรับปี 2554 รวมทั้งงบการเงินรายไตรมาสทุกไตรมาสตั้งแต่ปี 2554 ของบริษัทย่อยสองแห่ง (บริษัท ทีทีแอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด และบริษัท ทริปเปิลที เทเลคอม จำกัด) เพื่อจัดทำงบการเงินรวม เนื่องจากผู้บริหารแผนฯ ยังไม่สามารถเข้าบริหารและควบคุมบริษัทย่อยดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้จัดทำงบการเงินรวมสำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2556 และสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2555 โดยรวมงบแสดงฐานะการเงินของบริษัทย่อยดังกล่าว ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 โดยไม่ได้รวมผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยดังกล่าวตั้งแต่ปี 2554 จนถึงไตรมาสปัจจุบัน

ผู้สอบบัญชีไม่สามารถสอบทานให้พอใจเกี่ยวกับหลักฐานประกอบการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของบริษัทย่อยดังกล่าวข้างต้น และผลกระทบต่องบการเงินรวมจากการที่ไม่รวมผลประกอบการของบริษัทย่อยดังกล่าวซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว ถือเป็นการถูกจำกัดขอบเขตโดยสถานการณ์

5. บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการเสริมอื่นๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำข้อตกลงและ/หรือเจรจาอัตราส่วนแบ่งรายได้จากบริษัทผู้ให้สัมปทาน และตามที่กล่าวไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินระหว่างกาลข้อ 5 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2556 และวันที่ 31 ธันวาคม 2555 บริษัทฯ มียอดคงค้างของรายได้จากการให้บริการเสริมเป็นจำนวนเงิน 494 ล้านบาท และ 493 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งการที่จะถือเป็นรายได้จากการให้บริการดังกล่าวขึ้นอยู่กับผลการเจรจาอัตราส่วนแบ่งรายได้จากบริษัทผู้ให้สัมปทาน และบริษัทฯ ไม่ได้บันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับยอดคงเหลือดังกล่าว เนื่องจากผู้ให้สัมปทานจะเก็บรักษาเงินไว้ในบัญชีแยกต่างหากตามสัญญาที่ตกลงร่วมกันเพื่อนำมาชำระหนี้ให้กับบริษัทฯ เมื่อสามารถตกลงส่วนแบ่งรายได้แล้ว

อย่างไรก็ดี ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ จะได้ดำเนินการบริหารงานตามแผนฯ และหาหนทางแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าว และมีความเชื่อมั่นว่าจะทำให้บริษัทฯ สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตามปกติ มีฐานะการเงินผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดที่ดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ