(เพิ่มเติม) EPCO จะใช้เงิน 2.65 พันลบ.เข้าถือหุ้นบางส่วนใน 2 โรงไฟฟ้า SPP ในไทย,นำบ.ย่อยเข้าตลาดหุ้นปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 9, 2016 12:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.โรงพิมพ์ตะวันออก (EPCO) เตรียมใช้เงินลงทุนราว 2.65 พันล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นบางส่วนในโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ประเภท Cogeneration จำนวน 2 แห่งในไทย ที่มีกำลังการผลิตรวม 360 เมกะวัตต์ (MW) หวังเสริมสร้างรายได้ที่มั่นคงในอนาคต พร้อมยกเลิกการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในญี่ปุ่นจำนวน 4 โครงการ รวม 15.336 เมกะวัตต์หลังการพัฒนาโครงการไม่คืบหน้า ขณะที่มีแผนนำบมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ทำธุรกิจผลิตไฟฟ้า เข้าตลาดหุ้นภายในปีนี้ พร้อมวางเป้าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 600 เกมะวัตต์ภายในปี 61

EPCO แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ อนุมัติการซื้อหุ้นสามัญทั้งทางตรงและทางอ้อม ในสัดส่วน 49.50% ของบริษัท พีพีทีซี จำกัด (PPTC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก ระบบ Cogeneration กำลังการผลิตสูงสุดรวมประมาณ 120 เมกะวัตต์ และไอน้ำกำลังการผลิตสูงสุดรวมประมาณ 30 ตัน/ชั่วโมง ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อวันที่ 29 มี.ค.59

นอกจากนี้จะเข้าซื้อหุ้นทางอ้อม ในสัดส่วน 30% ของบริษัท เอสเอสยูที จำกัด (SSUT) ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก ระบบ Cogeneration กำลังการผลิตสูงสุดรวมประมาณ 240 เมกะวัตต์ และไอน้ำกำลังการผลิตสูงสุดประมาณ 60 ตัน/ชั่วโมง ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งปัจจุบันโรงไฟฟ้าดังกล่าวอยู่ระหว่างก่อสร้างและจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าให้กับกฟผ. ได้ประมาณเดือนก.ย. 59 สำหรับการเข้าถือหุ้นบางส่วนในทั้ง 2 โรงไฟฟ้า คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.65 พันล้านบาท ซึ่ง EPCO จะลงทุนผ่าน EP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นในสัดส่วน 78.06%

สำหรับแหล่งเงินลงทุนจะมาจากการเพิ่มทุนของ EP จำนวนเงิน 750 ล้านบาท รวมถึงการออกและเสนอขายหุ้นกู้ ของบริษัท หรือของ EP ซึ่งจะเสนอขายให้กับผู้ลงทุนสถาบัน หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ในวงเงิน 2 พันล้านบาท โดยบริษัทคาดว่าการเข้าลงทุนครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างความเติบโตของรายได้ที่มั่นคงในอนาคต ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกำไรและกระแสเงินสดกลับมายังบริษัทในระยะเวลาอันรวดเร็ว และช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว

นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัท ยังอนุมัติยกเลิกสัญญาพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประเทศญี่ปุ่น Genbi Project 10 เมกะวัตต์ และ Shirakata Project 1-3 จำนวน 5.336 เมกะวัตต์ รวม 4 โครงการ จำนวนรวม 15.336 เมกะวัตต์ ของ EP เนื่องจากผู้พัฒนาโครงการจะต้องดำเนินการจัดหาที่ดินหรือสิทธิการเช่าที่ดิน พร้อมใบอนุญาตต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 ต.ค.58 แต่ ณ ปัจจุบันทางผู้พัฒนาโครงการยังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ทั้งนี้ บริษัทยังไม่ได้มีการชำระเงินใด ๆ สำหรับโครงการดังกล่าว

นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ EPCO กล่าวว่า การเข้าซื้อโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ กำลังการผลิต 360 เมกะวัตต์ในครั้งนี้ ส่งผลให้กลุ่มบริษัทมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 425 เมกะวัตต์ และมีแผนที่จะนำบริษัทลูกคือ EP ระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ภายในปี 59 นี้ พร้อมทั้งได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าภายในปี 61 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 600 เมกะวัตต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ