(เพิ่มเติม) BWG ตั้งบ.ย่อยรุกธุรกิจอสังหาฯ รองรับงานพัฒนานิคมฯพลังงานทดแทน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 11, 2016 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) แจ้งว่า บริษัทได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ ชื่อ บริษัท บี กรีน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 59 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาทซึ่ง BWG ถือหุ้น 91% ประกอบกิจการพัฒนาและจัดสรรที่ดิน, ซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ในรูปแบบการนิคมอุตสาหกรรม และในรูปแบบอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน

ทั้งนี้ บริษัท บี กรีน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จะขับเคลื่อนงานด้านพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนอย่างเต็มตัว หลังจากที่งานดังกล่าวมีความชัดเจนและคืบหน้าไปมาก

“หลังจากที่ BWG ได้เซ็น MOU กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพื่อศึกษาและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งจนถึงขณะนี้งานดังกล่าวมีความชัดเจนมากขึ้น บริษัทฯ จึงได้จัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดูแลงานดังกล่าวอย่างเต็มตัว เพื่อให้การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเห็นความคืบหน้างานดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างเป็นลำดับหลังจากนี้" นายสุวัฒน์ กล่าว

สำหรับโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ได้ศึกษาความเป็นไปได้ใน 3 ภูมิภาคของไทย คือ ภาคกลาง/ปริมณฑล และภาคตะวันออก ในโซนที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งภาคตะวันตกที่จะเชื่อมกับโซนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเชื่อมไปยังเขตเศรษฐกิจอาเซียน รองรับการรวมตลาดเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ความร่วมมือของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพื่อเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบสำหรับการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ สิ่งแวดล้อม และประชาชน

นายสุวัฒน์ กล่าวว่า โครงการศึกษาและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเกิดขึ้นเพื่อต้องการจัดตั้งและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วขึ้นเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมประเภทเดียวกันเข้าไปอยู่รวมกันอย่างมีระบบ เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล และสามารถพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้สอดรับกับความต้องการที่แท้จริงของโรงงานอุตสาหกรรมประเภทดังกล่าว โดยผ่านการคัดสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสม

"โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะต้องการสานต่อนโยบายของ กนอ. ที่ต้องการให้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานสากล เข้ามารองรับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศ ประกอบกับรัฐบาลให้การสนับสนุนการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านการนำกลับมาใช้ใหม่และการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี และมองว่าเป็นประโยชน์หากธุรกิจประเภทเดียวกันมาอยู่ด้วยกันภายใต้ระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานถูกต้องตามกฎหมาย และข้อบังคับ ภายใต้การควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชิดจาก กนอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง"นายสุวัฒน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ