(เพิ่มเติม) DEMCO เผยโรงไฟฟ้าพลังลมเขาค้อเริ่ม COD,รอเข้าประมูลงาน กฟผ-กฟน.-กฟภ.หลายหมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 9, 2016 10:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพฑูรย์ กำชัย เลขานุการบริษัท บมจ.เด็มโก (DEMCO) แจ้งว่า โรงไฟฟ้าพลังงานลมเขาค้อ ขนาดกำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ ของบริษัท เขาค้อ วินด์ พาวเวอร์ จำกัด ที่ DEMCO ถือหุ้น 14.29% ขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จและโครงการได้จำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ วันที่ 5 ส.ค.59

ทั้งนี้ DEMCO ได้รับสัญญาจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว โดยมีขอบเขตงานออกแบบ จัดหาก่อสร้าง ติดตั้ง ระบบไฟฟ้าใต้ดิน สถานีไฟฟ้า 115/22 เควี สายส่งแรงสูง 115 เควี ระยะทาง 45 กิโลเมตร รวมถึงงานก่อสร้างฐานเสากังหันลม 24 ฐาน และถนนภายในโครงการ 16 กิโลเมตร สถานที่ก่อสร้าง ต.ทุ่งสมอ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ศิริคุปต์ กรรมการผู้จัดการ DEMCO เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ตำบลทุ่งสมอ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ขนาดกำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ ได้จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้วเมื่อวันที่ 5 ส.ค.59 ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ ในฐานะผู้ถือหุ้นร้อยละ 14.29 ในบริษัทเขาค้อวินด์พาวเวอร์ จะได้รับเงินปันผลจากโครงการดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอทุกปี โดยจะสามารถรับรู้เงินปันผลจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เขาค้อเต็มปีในปี 2560 เป็นเงินประมาณ 40 ล้านบาท/ปี

ขณะเดียวกันบริษัทฯยังพร้อมที่จะเข้าประมูลงานของสายส่ง และสถานีไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ราว 1 หมื่นล้านบาท ประมูลงานสายส่งไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มูลค่า 4.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทยอยประมูลตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป และคาดว่าจะได้รับงานจาก กฟผ.ประมาณ 10% หรือประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท กฟน.ประมาณ 500 ล้านบาท

รวมถึงจะประมูลงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อีก 7 พันล้านบาท โดยคาดหวังว่าจะได้งาน 20% ยังไม่นับรวมงานเสาโครงเหล็กที่ได้รับงานเพิ่มขึ้น หลังจากที่การประมูล 4G จบลง ซึ่งค่ายมือถือมีนโยบายลงทุนในระบบโครงข่ายสัญญาณโทรคมนาคมในปีนี้รวมกันไม่น้อยกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท

ในส่วนของการลงทุนโครงการพัฒนาระบบน้ำประปาในลาว คาดว่าจะสามารถจ่ายน้ำได้ปลายปี นอกจากนี้สปป.ลาวยังเตรียมพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำสูญเสีย และระบบไฟฟ้าใต้ดินเป็นลำดับถัดไป

ทั้งนี้ บริษัทฯยังคงเป้าหมายรายได้ในปีนี้เติบโตประมาณ 10-15% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้รวม 5,207 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) ประมาณ 7,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้แก่พลังงานทดแทน 2,600 ล้านบาท งานวิศวกรรมไฟฟ้า 4,300 ล้านบาท คาดจะรับรู้รายได้ปีนี้ทั้งปีไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือรับรู้รายได้ในปี 2560


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ