TCMC ทุ่ม 3.15 พันลบ.ลงทุนธุรกิจพรมเพื่อการพาณิชย์ "Tai Ping",เพิ่มทุนเท่าตัวขายผถห.เดิมพร้อมแถมวอร์แรนต์

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 4, 2017 08:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.อุตสาหกรรมพรมไทย (TCMC) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (3 ส.ค.) อนุมัติให้เข้าลงทุนในธุรกิจพรมเพื่อการพาณิชย์ (Commercial Carpet Business) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจของ Tai Ping Carpets International Limited (Tai Ping) ซึ่ง Thai Ping จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดยเป็นการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมของกลุ่มบริษัท Tai Ping Carpets International Limited เป็นเงินทั้งสิ้น 94 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3.15 พันล้านบาท พร้อมทั้งอนุมัติการเพิ่มทุนเท่าตัว เสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมสัดส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 3 บาท พร้อมแถมวอร์แรนต์

ทั้งนี้ บริษัทและบริษัทย่อย จะเข้าลงทุนใน Commercial Carpet Business ทั้งหมดของ Tai Ping ซึ่งประกอบด้วยบริษัทที่จดทะเบียนในหลายประเทศ เช่น ไทย สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเก๊า อินเดีย และหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน เป็นต้น โดยบริษัทจะจัดตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาในฮ่องกง (HK Entity) เพื่อถือหุ้นใน Costigan Limited (CTG) ซึ่งถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ ของ Commercial Carpet Business และจัดตั้งบริษัทย่อยในสหราชอาณาจักร (UK Entity) เพื่อรับโอนธุรกิจในแถบยุโรปและตะวันออกกลาง โดยบริษัทและ HK Entity จะร่วมกันถือหุ้นในบริษัท เวชาไชย จำกัด (VC) ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 99.30 ในบมจ.คาร์เปท อินเตอร์แนชั่นแนล ไทยแลนด์ จำกัด (CIT) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตพรมในประเทศไทย

สำหรับธุรกิจที่บริษัทจะได้มานั้นมีลักษณะของธุรกิจที่เหมือนกันกับธุรกิจของบริษัทในปัจจุบัน คือการผลิตและจำหน่ายพรม ซึ่งภายหลังการเข้าทำรายการดังกล่าว บริษัทจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในธุรกิจหลัก และจะยังมุ่งเน้นธุรกิจผลิตและจำหน่ายพรมซึ่งเป็นธุรกิจหลักต่อไป และยังมีคุณสมบัติครบถ้วนและเหมาะสมในการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไปด้วย

Thai Ping ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายพรม โดยแบ่งพรมเป็น 2 ลักษณะ คือ พรมเพื่อการพาณิชย์ (Commercial Carpet Business) และพรมที่เป็นงานฝีมือ (Artisan Carpet Business) โดยกลุ่มลูกค้าของ Commercial Carpet Business จะเป็นโรงแรม คาสิโน หอประชุม รถยนต์ อาคารสำนักงาน และเรือสำราญขนาดใหญ่ เป็นต้น ส่วนกลุ่มลูกค้าของ Artisan Carpet Business จะเป็นบ้าน วัง เรือยอร์ช เครื่องบิน โรงแรมหรู เป็นต้น

แบรนด์ที่ใช้สำหรับ Commercial Carpet Business คือ 1956 by Tai Ping และ Carpets Inter สำหรับ Artisan Carpet Business คือ Tai Ping, Edward Fields และ Cogolin

สำหรับลักษณะการประกอบธุรกิจของ Commercial Carpet Business ซึ่งมีอยู่ทั่วโลกนั้น ได้มีการจัดตั้งบริษัทในประเทศต่าง ๆ เพื่อความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ โดยจะมีการผลิตพรมจาก 3 แห่ง คือ โรงงานของบมจ.คาร์เปท อินเตอร์ แนชั่นแนล ไทยแลนด์ ซึ่งตั้งอยู่ในไทย ถือหุ้นโดย Tai Ping ร้อยละ 99.30 ,โรงงานที่หนานไห่ (Nanhai factory) ในจีน ถือหุ้นโดย Tai Ping ร้อยละ 80 และโรงงานอื่นในจีน (China partner workshop) โดยโรงงานในไทยจะขายสินค้าโดยตรงกับลูกค้าในไทยและออสเตรเลีย ส่วนโรงงานในจีนจะขายสินค้าผ่าน Tai Ping Carpets International Trading (Shanghai) Company Limited (TPCIT) สำหรับลูกค้าอื่น ๆ จะผลิตโดยโรงงานในไทยและจีน ขายผ่านทางบริษัทต่าง ๆ ในกลุ่ม Tai Ping (Tai Ping Group)

TCMC ระบุว่าเมื่อเข้าลงทุนธุรกิจ Commercial Carpet Business ของ Tai Ping แล้วบริษัทจะต้องโอนสิทธิในแบรนด์ Tai Ping คืนให้ทาง Tai Ping โดยบริษัทจะใช้แบรนด์อื่นมาทดแทน อย่างไรก็ตามการเข้าลงทุนครั้งนี้จะทำให้บริษัทมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน โดย Commercial Carpet Business ของ Tai Ping มียอดขายเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกในธุรกิจพรม และยอดขายพรมเป็นอันดับ 1 ในไทย และยังจะได้รับประโยชน์จากการประสานความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกันในอนาตต เช่น ฐานลูกค้า ช่องทางการจัดจำหน่าย วัตถุดิบและการผลิต เป็นต้น

สำหรับแหล่งเงินลงทุนจะมาจาก เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินเป็นสกุลบาท จำนวน 3.35 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนในกิจการ 3.15 พันล้านบาท และส่วนที่เหลือจะใช้สำรองไว้ในการทำธุรกรรม โดยการคืนเงินกู้ดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกจำนวนประมาณ 1.85 พันล้านบาท จะนำเงินที่ได้รับจากการดำเนินธุรกิจของ Commercial Carpet Business และของบริษัทมาชำระคืนเงินกู้ ส่วนที่สองจำนวนไม่เกิน 1.5 พันล้านบาท จะมาจากเงินเพิ่มทุนและการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์)

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1.12 พันล้านบาท จากเดิมที่ 559.67 ล้านบาท โดยออกหุ้นเพิ่มทุน 508.79 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1.10 บาท รวมเป็นเงิน 559.67 ล้านบาท แบ่งจัดสรรจำนวน 254.4 ล้านหุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 3 บาท กำหนดจองซื้อและชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนระหว่างวันที่ 13-17 พ.ย.60 และจัดสรรจำนวน 254.4 ล้านหุ้น รองรับวอร์แรนต์ ที่จะออกไม่เกิน 254.4 ล้านหน่วย อายุ ไม่เกิน 2 ปี ให้ฟรีแก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน 1 หุ้นเพิ่มทุนต่อ 1 วอร์แรนต์ มีอัตราการใช้สิทธิ 1 วอร์แรนต์ต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาใช้สิทธิหุ้นละ 4 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ