(เพิ่มเติม) TPCH เผยโรงไฟฟ้าปัตตานีกรีน 21 MW ได้ PPA ขายไฟฟ้ากำหนด COD 1 มี.ค.62

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 17, 2017 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) แจ้งว่า บริษัท ปัตตานี กรีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เรียบร้อยแล้ว กำลังการผลิตไฟฟ้าเสนอขาย 21 เมกะวัตต์ อยู่ที่ตำบลลิปะสะโง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ.ในรูปแบบสัญญา Non-Firm จำหน่ายในระบบ Adder โดยมีกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญา (SCOD) ในวันที่ 1 มีนาคม 2562 และคณะกรรมการผู้ชานาญการมีมติให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการเรียบร้อยแล้ว

นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานกรรมการบริหาร TPCH เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี กรีน เพาเวอร์ (PTG) ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA: Power Purchase Agreement) เป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 17 สิงหาคม 2560 โดยจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในระบบ Adder ในราคารับซื้อไฟ 3.87 บาท

ปัจจุบัน บริษัทมีโครงการที่ขายไฟแล้วรวมกำลังการผลิตติดตั้ง 50 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ในระหว่างก่อสร้าง 10 เมกะวัตต์ นอกจากนั้นยังมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา 59 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 119 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการที่ขายไฟฟ้าแล้วจำนวนการผลิตติดตั้ง 50 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB) ,โรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ (MWE),โรงไฟฟ้าชีวมวลมหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP) โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG ) และโรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP)

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวนการผลิตติดตั้งจำนวน 10 เมกะวัตต์ คือ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล สตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) คาดว่าจะจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในไตรมาส 4/60 และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 4 แห่ง คือโรงไฟฟ้าชีวมวล TPCH 1 ,TPCH 2 และ TPCH 5 กำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 26.1 เมกะวัตต์ โดยจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในระบบ Feed-in Tariff (FiT) และโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ (SP) กำลังการผลิตติดตั้ง ขนาด 10 เมกะวัตต์ โดยจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวงในระบบ Feed-in Tariff (FiT)

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPCH กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm ตามประกาศของทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)โดยคาดว่าจะสามารถประมูลงานดังกล่าวได้ 70-100 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้กำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่ที่ 200 เมกะวัตต์ ภายในปี 63 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน

สำหรับผลการดำเนินงานในงวด 6 เดือนปี 60 เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยมีกำไรสุทธิ 104.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.02 ล้านบาท หรือ 28.26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 81.46 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายการตั้งด้อยค่าของตั๋วแลกเงิน 19.82 ล้านบาท เป็นส่วนของเงินลงทุนในตั๋วแลกเงินมูลค่า 49.54 ล้านบาทที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและได้รับผลตอบแทนตามหน้าตั๋วแลกเงิน ส่วนเงินลงทุนในตั๋วแลกเงินอื่นๆที่ครบกำหนดชำระบริษัทได้รับชำระครบถ้วนแล้ว ในส่วนของกำลังการผลิตไฟฟ้าในงวด 6 เดือนในปี 60 บริษัทฯ มีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 139,491,334 หน่วย เพิ่มขึ้น 63,889,111 หน่วยเมื่อเทียบกับกำลังการผลิตไฟฟ้าในงวด 6 เดือนในปี 59 ที่มีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 75,602,223 หน่วย หน่วยการผลิตที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการมีโรงไฟฟ้าเปิดจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น อีกทั้งโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) ที่ได้จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น มีผลการดำเนินงานที่ดีเยี่ยมอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ