(เพิ่มเติม) CHOW ขายโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น 2 แห่งเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานญี่ปุ่น รับงิน 622.86 ลบ.ใน Q4/60

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 31, 2017 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ (CHOW) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (30 ส.ค.) อนุมัติให้บริษัทย่อยทางอ้อม ขายสินทรัพย์ประเภทโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 4.43 เมกะวัตต์ (MW) ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศญี่ปุ่น หรือบริษัทลูกของกองทุนฯ มูลค่าประมาณ 2,040 ล้านเยน หรือเทียบเท่า 622.86 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนธุรกิจว่าด้วยการขายทรัพย์สินเข้ากองทุนฯเป็นการเพิ่มมูลค่าเพื่อสร้างผลกำไร และเตรียมกระแสเงินสดเพื่อรองรับการลงทุนใหม่ หรือชำระหนี้ โดยคาดว่าการดำเนินการจะเกิดขึ้นภายในเดือนต.ค.60

ทั้งนี้ บริษัทย่อยทางอ้อมดังกล่าว คือ Sun Partner Japan Godo Kaisha (SPN) จะขายทรัพย์สินประเภทโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการ Ibaraki กำลังการผลิต 1.17 เมกะวัตต์ และโครงการ Oita กำลงัการผลิต 3.26 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิต 4.43 เมกะวัตต์ ให้กองทุนฯดังกล่าว โดยโครงการผลิตไฟฟ้าทั้ง 2 โครงการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วตั้งแต่ปี 58

นายอนาวิล จิรธรรมศิริ ประธานกรรมการบริหาร ของ CHOW กล่าวว่า การขายโครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งในครั้งนี้เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างผลกำไรจากการลงทุน เนื่องจากปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้รับความสนใจจากกองทุนประเภทโครงสร้างพื้นฐานในประเทศญี่ปุ่น เป็นอย่างมาก สามารถขายได้ในราคาพรีเมี่ยม

ขณะที่บริษัทสามารถนำกระแสเงินสดที่ได้จากการขายสินทรัพย์ดังกล่าวไปเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการอื่นที่สร้างกำไรให้กับบริษัท และผู้ถือหุ้นได้ดีกว่าเดิม หรือชำระหนี้ที่เกิดจากการลงทุนก่อนหน้านี้ซึ่งจะทำให้ลดภาระเรื่องดอกเบี้ยจ่ายลง ทั้งยังขยายธุรกิจได้อย่างคล่องตัวยิ่งขึ้น คาดว่าการขายโครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งจะเสร็จสิ้นและรับรู้รายได้ภายในไตรมาสที่ 4/60

"การขายโครงการ Ibaraki และ Oita เป็นเพียงการขายเพื่อสร้างผลกำไรจากการลงทุน เพิ่มความคล่องตัวให้กับการขยายธุรกิจในโอกาสและเงื่อนไขที่ดีกว่า โดย CHOW ยังมีเป้าหมายขยายธุรกิจพลังงานในประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง จากที่ประเทศญี่ปุ่นยังคงมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอีกมาก และรัฐบาลให้การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ประกอบกับบริษัทมีความเชี่ยวชาญในตลาดญี่ปุ่นเป็นอย่างดี มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร และเทคโนโลยี ทำให้บริษัทเล็งเห็นโอกาสในการเจริญเติบโตในอนาคต"นายอนาวิล กล่าว

นายอนาวิล กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวยังสอดคล้องกับกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่นของบริษัท เนื่องจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงในระยะยาว ส่วนเป้าหมายจะเพิ่มยอดขายไฟในเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 60 ให้มีกำลังผลิตรวมไม่น้อยกว่า 100 เมกะวัตต์ เพื่อสะท้อนรายได้จากธุรกิจพลังงานให้เติบโตก้าวกระโดดอย่างมีนัยสำคัญยังคงยืนตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ