PTTEP เผย Q3/60 พลิกขาดทุน 8.68 พันลบ.หลังตั้งด้อยค่าฯ แม้กำไรปกติโตกว่า 100%,คาดปริมาณขาย Q4/60 สูงขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 2, 2017 14:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ปตท.สารวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เผยไตรมาส 3/60 พลิกขาดทุนสุทธิ 264 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ดอลลาร์ สรอ.) หรือราว 8,862 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิจำนวน 156 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือราว 5,446 ล้านบาท

สาเหตุหลักมาจาก การรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ของโครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ จำนวน 558 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาส 3/60 ขณะที่ค่าเสื่อมราคา ค่าสูญสิ้นและค่าตัดจำหน่ายลดลงจำนวน 121 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยหลักจากการปรับปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น และรายได้ค่าขายเพิ่มขึ้น จำนวน 17 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยหลักมาจากราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น

อย่างก็ตาม ในไตรมาสนี้บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานตามปกติ (Recurring Net Profit) 218 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้น 143 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือมากกว่า 100% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/59 ที่ 75 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือราว 2,603 ล้านบาท แม้ปริมาณการขายเฉลี่ยในไตรมาสนี้จะอยู่ที่ 298,139 บาร์เรล/วัน ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 311,386 บาร์เรล/วันในงวดปีก่อน โดยหลักจากโครงการบงกชและโครงการสินภูฮ่อม เนื่องจากผู้ซื้อรับก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่ลดลง แต่ราคาขายเฉลี่ยในไตรมาส 3/60 เพิ่มขึ้นเป็น 38.78 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล จากระดับ 36.32 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรลในงวดปีก่อน ตามราคาน้ามันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับปริมาณการขายในไตรมาส 3/60 ยังสูงกว่าประมาณการเดิมที่บริษัทคาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 290,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งการปรับตัวสูงขึ้นดังกล่าวมาจากการเพิ่มการผลิตของโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียตามที่ผู้ซื้อในประเทศมาเลเซียสามารถกลับมารับก๊าซธรรมชาติได้ตามปกติ แผนงานการปิดซ่อมบำรุงที่ลดลงโดยหลักจากโครงการบงกช ปริมาณการขายน้ำมันดิบที่สูงขึ้นของแหล่งมอนทาราในออสเตรเลีย รวมถึงความสำเร็จในการเพิ่มปริมาณการผลิตคอนเดนเสทของโครงการในอ่าวไทย

ณ สิ้นไตรมาส 3/60 บริษัทยังคงมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งด้วยสินทรัพย์จำนวน 18,616 ล้านดอลลาร์ สรอ. มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 7,387 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยเป็นส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยจำนวน 2,889 ล้านดอลลาร์ สรอ. และส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 11,229 ล้านดอลลาร์ สรอ. อีกทั้ง ณ สิ้นไตรมาส บริษัทมีสภาพคล่องสูงโดยมีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 4,055 ล้านดอลลาร์ สรอ.

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 60 บริษัทจะพยายามรักษาระดับการผลิตของโครงการในประเทศไทย โดยคาดว่าปริมาณการขายเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาร์เรล/วัน โดยคาดว่าปริมาณการขายในไตรมาส 4/60 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/60 อันเป็นผลมาจากแนวโน้มที่ดีขึ้นของการขายก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและแนวทางการเพิ่มการผลิตคอนเดนเสทจากโครงการในอ่าวไทยและน้ำมันดิบในโครงการเอส 1

ส่วนราคาน้ำมันดิบของบริษัทจะผันแปรตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งบริษัทตั้งสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีนี้ที่ 52 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล โดยแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในไตรมาสสุดท้ายของปีจะอยู่ในระดับประมาณ 55 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับราคาน้ามันดิบในช่วงปลายไตรมาส 3

ด้านราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทนั้น มีโครงสร้างราคาส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลังประมาณ 6-12 เดือน บริษัทคาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยของปี 60 จะอยู่ที่ประมาณ 5.6 ดอลลาร์ สรอ./ล้านบีทียู เป็นผลจากการปรับตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก บนสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 52 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล

ด้านต้นทุนบริษัทคาดว่าจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยในระดับต่ำได้ที่ประมาณ 29 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล สำหรับปี 2560 ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์เดิม และคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) จะอยู่ที่ประมาณ 70% ของรายได้จากการขาย

ณ สิ้นไตรมาส 3/60 บริษัทมีโครงการและดำเนินกิจกรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศรวมทั้งสิ้นจำนวน 36 โครงการใน 10 ประเทศ โดยโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ซึ่งตั้งอยู่บนบกทางทิศตะวันออกของแอลจีเรีย คาดว่าจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ภายในปี 60 ,แหล่ง Cash Maple ในออสเตรเลีย ที่อยู่ระยะเวลาสำรวจ (Exploration Phase) นั้น ปัจจุบันโครงการยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED Study) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 60 เพื่อหาแนวทางการพัฒนาโครงการต่อไป

โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ซึ่งเป็นโครงการก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ตั้งอยู่นอกชายฝั่งของโมซัมบิก ในไตรมาสนี้โครงการได้มีการลงนามสัมปทานการบริหารจัดการทางทะเลและท่าเรือ (Marine Concessions) กับรัฐบาลโมซัมบิกเมื่อวันที่ 10 ส.ค.60 ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการเคลื่อนย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ก่อสร้างโครงการ (Resettlement) โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาส 4 นี้

นอกจากนี้ โครงการมีความคืบหน้าเป็นอย่างมากในการเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ระยะยาวกับผู้ซื้อ และการเจรจาสัญญาเงินกู้ในรูปแบบ Project Finance กับสถาบันการเงิน เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ FID ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ