MBKET รับมาร์เก็ตแชร์ปีนี้ตกเป็นอันดับ 2 หลังเสียบุคลากรไปมากแต่ยังหาทดแทนไม่ครบ แต่ยังมั่นใจรายได้ดีกว่าปีก่อน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 13, 2018 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) (MBKET) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยอมรับส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ปีนี้จะลดลงมาอยู่ที่อันดับ 2 โดยจะพยายามรักษาไว้ให้อยู่ในระดับ 7% หลังยังคงได้รับผลกระทบจากการเสียเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถหามาทดแทนเท่ากับที่เสียไปได้ ประกอบกับภาวะการแข่งขันในธุรกิจโบรกเกอร์ก็มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทฯ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ บริษัทฯได้ปรับทีมบุคลากรใหม่ โดยยังมีความเชื่อมั่นในงานวิจัย, ระบบงาน และการเป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือสูง ขณะที่จะกระจายรายได้ไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่นอกเหนือจากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ เช่น งานวาณิชธนกิจ, ตราสารอนุพันธุ์, ตราสารหนี้ และธุรกิจเวลธ์ โดยปัจจุบันธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์มีสัดส่วนสูงถึง 60% ซึ่งน่าจะส่งผลทำให้รายได้ปีนี้น่าจะดีกว่าระดับ 3.26 พันล้านบาทในปีก่อน และคาดว่าในไตรมาส 2/61 คาดว่ารายได้จะทำได้ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 1/61 มาแล้ว และน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ตั้งแต่ไตรมาสสองเป็นต้นไป นอกจากนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าลูกค้าใหม่เพิ่มอีก 2 หมื่นรายในปีนี้ จากปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ที่ 2.06 แสนราย และมีการซื้อขายอย่างสม่ำเสมอ 7.6 หมื่นราย

สำหรับงานวาณิชธนกิจในปีนี้ บริษัทฯ มีงานในมือทั้งสิ้น 27 ดีล แบ่งเป็น งานที่ปรึกษาทางการเงินในการเข้าซื้อกิจการ (M&A) จำนวน 3-4 ดีล ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ระดับ 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป , กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) 1-2 กอง, กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1-2 กอง, งานที่ปรึกษาทางการเงินในการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) 14-15 บริษัท ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าตลาดหุ้นได้ 5-7 บริษัทในปีนี้ โดยมีมูลค่าระดมทุนรวมหลายพันล้านบาท , ที่ปรึกษาการเพิ่มทุน 1-2 ดีล และงานที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) อื่นๆ อีก 1-2 ดีล

นายมนตรี กล่าวว่า สำหรับภาพรวมการซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา มองว่าราคาหุ้นค่อนข้างมีความผันผวนสูง เนื่องจากมีการใช้ระบบคำสั่งซื้อขายด้วยปัญญาประดิษฐ์อัจริยะ (AI) โดยบริษัทฯ จะเข้าไปเจรจากับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ให้ตรวจสอบระบบคำสั่งการซื้อขายดังกล่าว เนื่องด้วยทำให้ราคาหุ้นในตลาดผิดเพี้ยน เนื่องจากระบบจะส่งคำสั่งซื้อตามสัญญาณการซื้อขาย ซึ่งจะเป็นลักษณะเดียวกันทั้งหมด ทำให้ราคาสูงจนเกินไป และหากมีสัญญาณขาย จะทำให้ราคาหุ้นถูกขายในลักษณะเดียวกันทั้งหมด กดดันราคาหุ้นต่ำจนเกินไป เปลี่ยนแปลงจากในอดีตที่นักลงทุนมีความหลากหลายทำให้ซัพพลายและดีมานด์สมดุล ตามความรู้สึกของนักลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ