S ได้สิทธิพัฒนาโครงการ Crossroads Phase 2 ในมัลดีฟส์ของกลุ่มบุญรอดฯ ระยะเวลา 1 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 9, 2018 09:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สิงห์ เอสเตท (S) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติการเข้าทำสัญญาบริการ (Master Service Agreement) ระหว่างบริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท อินเตอร์ จำกัด (เอส โฮเทลฯ) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้น 99.99% และ/หรือ บริษัทย่อยอื่นที่ S ถือหุ้นไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมไม่ต่ำกว่า 99% กับ Singha Property Management (Singapore) Pte. Ltd. (SPM SG) และ/หรือ บริษัทย่อยอื่นที่ SPM SG ถือหุ้นไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมไม่ต่ำกว่า 99%

SPM SG เป็นบริษัทย่อยซึ่งบริษัท สิงห์ พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SPM) ถือหุ้น 100% โดย SPM เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ โดยถือหุ้นใน S ทางตรงและทางอ้อมรวม 37.26% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วของบริษัท และ SPM และ SPM SG เป็นบริษัทย่อยของบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด โดย SPM SG, SPM, บุญรอดบริวเวอรี่ และ S รวมเรียกว่า "กลุ่มบุญรอดฯ"

ตามสัญญาให้บริการดังกล่าว เอส โฮเทลฯ จะเป็นผู้ให้บริการเกี่ยวกับโครงการพัฒนา Tourist Facilities บน Emboodhoo Lagoon สาธารณรัฐมัลดีฟส์ในส่วนที่กลุ่มบุญรอดฯ ได้รับสิทธิในการพัฒนาโครงการ (โครงการ Crossroads Phase 2) โดยสัญญาบริการดังกล่าวมีมูลค่ารวมประมาณ 96 ล้านบาท และมีระยะเวลาของสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.61 จนถึงวันที่ 31 ก.ค.62

ทั้งนี้ สัญญาบริการฉบับเดิมระหว่างเอส โฮเทลฯ และ SPM SG จะมีผลจนถึงวันที่ 31 ก.ค.61

และอนุมัติการเข้าทำสัญญาบริการให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาธุรกิจ (Business Development Advisory Service Agreement) ระหว่างเอส โฮเทลฯ กับ SPM SG โดยเอส โฮเทลฯ จะเป็นผู้ให้บริการให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวกับโครงการ Crossroads Phase 2 โดยสัญญาบริการให้คำปรึกษาดังกล่าวมีมูลค่ารวมประมาณ 51,200,000 บาท และมีระยะเวลาของสัญญาตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาบริการให้คำปรึกษา จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.61

การเข้าทำรายการครั้งนี้มีความสมเหตุสมผล เนื่องจาก ค่าตอบแทนภายใต้สัญญาบริการ คิดเป็นประมาณ 96 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าต้นทุนในการให้บริการที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาของสัญญาบริการ และค่าตอบแทนภายใต้สัญญาบริการให้คำปรึกษาคิดเป็นประมาณ 51.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าต้นทุนในการให้บริการที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาของสัญญาบริการให้คำปรึกษา และค่าตอบแทนดังกล่าวสามารถอ้างอิงได้จากราคาตลาด (Arm's length price) ของสัญญาในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน และค่าตอบแทนตามสัญญาดังกล่าวจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทฯ โดยที่กลุ่มบริษัทฯ สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แต่เดิมรวมถึงความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของผู้บริหารและบุคลากรในการให้บริการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ