UMS โชว์แผนแก้ "C" เล็งขายสินทรัพย์นำเงินลดหนี้ พร้อมเน้นงานให้เช่าพื้นที่-บริการท่าเรือหวังช่วยลดผลขาดทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 31, 2018 11:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส (UMS) แจ้งสรุปการประชุมเพื่อให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง (Public Presentation) ในการที่หลักทรัพย์ของบริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย "C" จากการที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนชำระแล้ว สำหรับงบการเงินไตรมาส 2/61 โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ และปรับปรุงธุรกิจ ตลอดจนปรับโครงสร้างทางการเงินให้มีความเหมาะสม โดยการขายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้งานเพื่อนำเงินมาลดภาระหนี้ อย่างไรก็ตามบริษัทจะยังคงทำธุรกิจถ่านหินต่อไป แต่อาจไม่มุ่งเน้นการขายเป็นหลัก แต่จะเน้นด้านการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องแทน เช่น การให้เช่าพื้นที่ เครื่องจักร บริการท่าเรือ เพื่อช่วยลดผลขาดทุน

สำหรับสาเหตุที่บริษัทประสบปัญหาดังกล่าว เนื่องจากมีสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ในการดำเนินงานมากเกินไป ได้แก่ โรงงานสวนส้ม , การใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่ใช้ในการดำเนินงานยังไม่เต็มกำลัง , ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เนื่องจากไม่เกิดการประหยัดจากการผลิต (Economic of Scale) และมีภาระหนี้ค่อนข้างสูง

ทั้งนี้ บริษัทมีแนวทางแก้ไขปัญหา ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ โดยจะขายโรงงานสวนส้มและสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสด และค่าเสื่อมราคา ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานของสินทรัพย์ที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยเพิ่มบริการให้เช่าพื้นที่สำหรับวางสต๊อกถ่านหิน , ปรับปรุงธุรกิจที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยจะขยายการให้บริการคัดแยกถ่านหินให้กับผู้นำเข้ารายอื่น เพื่อเพิ่มรายได้และเป็นการใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น รวมถึงปรับปรุงการให้บริการโกรกที่ท่าเรือให้สามารถรองรับลูกค้าได้ตลอดทั้งปี โดยยกระดับโกรกลงสินค้าให้สูงขึ้นเพื่อรองรับการลงสินค้าในช่วงฤดูน้ำได้ และขยายปริมาณเรือไลท์เตอร์สำหรับให้บริการขนส่งสินค้าทางน้ำภายในประเทศ และปรับโครงสร้างทางการเงิน โดยปรับโครงสร้างของหนี้สินและทุนให้เหมาะสมกับธุรกิจในปัจจุบัน โดยการขายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้งานเพื่อนำเงินมาลดภาระหนี้ลง

อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนได้สอบถามถึงสาเหตุที่บริษัทมีผลขาดทุนติดต่อกันมากว่า 3 ปีนั้น บริษัทเป็นผู้ดำเนินธุรกิจถ่านหิน ที่มีการขายถ่านแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ถ่านหินคัดขนาด (Classified coal) กับ ถ่านฝุ่น(Fine coal) โดยบริษัทจะได้กำไรจากถ่านคัดขนาด แต่สำหรับถ่านฝุ่น ซึ่งเปรียบเสมือนสินค้าที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิต (By product) ซึ่งมีราคาขายที่ต่ำกว่าทุน โดยตอนที่บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) เข้าไปซื้อกิจการของ UMS บริษัทมีสต็อกสินค้าในส่วนที่เป็นถ่านฝุ่นเป็นจำนวนประมาณ 1 ล้านตัน ประกอบกับ ราคาถ่านหินที่ค่อย ๆ ลดลงมาเรื่อยๆ จึงทำให้บริษัทต้องทยอยขายถ่านฝุ่นออกไปในราคาที่ขาดทุน จนปัจจุบันบริษัทได้ขายสต็อกถ่านฝุ่นดังกล่าวออกไปจนหมด ส่งผลให้บริษัทประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับ โรงงานที่บริษัทมีอยู่จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานสวนส้ม และโรงงานนครหลวง แต่ก่อนสามารถใช้โรงงานทั้ง 2 แห่งในการคัดแยกถ่านหินได้ แต่หลังจากที่มีปัญหาเรื่องชุมชนที่โรงงานสวนส้ม ทำให้บริษัทไม่สามารถใช้โรงงานสวนส้มในการประกอบกิจการถ่านหินได้อีก จึงกลายเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้กับบริษัท จึงทำให้บริษัทต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของโรงงานสวนส้มที่ค่อนข้างสูง รวมทั้งมีหนี้ที่ต้องชำระ หากบริษัทขายโรงงานสวนส้มและนำเงินมาชำระหนี้ จะทำให้บริษัทสามารถลดภาระดอกเบี้ยจ่ายลงไปได้ประมาณ 1.5 ล้านบาท/เดือน ทำให้บริษัทต้องประสบผลขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้พยายามปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ มาโดยตลอด เพื่อให้เกิดผลขาดทุนน้อยที่สุด และผลขาดทุนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นทางบัญชี โดยในรูปเงินสดยังเป็นบวกอยู่ นอกจากนี้บริษัทยังหาทางนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อมาช่วยเปลี่ยนถ่านฝุ่นให้มีคุณภาพใกล้เคียงถ่านคัดขนาด เพื่อเพิ่มมูลค่าของถ่านฝุ่นในอนาคต

ส่วนคำถามกรณีหากโรงงานสวนส้มหรือขายทรัพย์สินอื่น ๆ แล้วบริษัทจะยังคงทำธุรกิจถ่านหินต่อไปหรือไม่นั้น ธุรกิจถ่านหินยังคงทำต่อไปได้ แต่บริษัทอาจจะไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การขายถ่านหินเป็นหลัก โดยจะเน้นไปในด้านการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจถ่านหินแทน เช่น การให้เช่าพื้นที่ การให้เช่าเครื่องจักร รวมทั้งการปรับปรุงท่าเรือและขยายกองเรือ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาเช่าพื้นที่บ้างแล้ว แต่ติดปัญหาเรื่องการให้บริการท่าเรือ ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้าได้ หากบริษัทได้ดำเนินการต่าง ๆ ได้สำเร็จก็เชื่อว่าจะสามารถช่วยลดผลขาดทุนของบริษัทได้อย่างแน่นอน

สำหรับต้นทุนคงที่ของโรงงานสวนส้มส่วนใหญ่เป็นค่าเสื่อมมราคา และมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่นค่าจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งหากบริษัทสามารถขายโรงงานสวนส้มได้ก็จะทำให้ลดภาระดอกเบี้ยจ่ายลงไปได้อีกบางส่วน ส่วนการตัดค่าเสื่อมเครื่องจักรนั้นจะหักตามอายุการใช้งานของเครื่องจัก ซึ่งมีตั้งแต่ 5-10 ปี ส่วนของอาคารจะตัดที่ 20 ปี ซึ่งขณะนี้คงเหลืออีกไม่กี่ปี เนื่องจากบริษัทดำเนินกิจการมาค่อนข้างนานแล้ว สำหรับเครื่องจักรใช้งานอยู่ยังไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ เพียงแต่ต้องทำการซ่อมแซมและดูแลการใช้งานเป็นประจำก็ยังสามารถใช้งานได้ดีอยู่

ด้านหนี้สงสัยจะสูญของบริษัทในปัจจุบันมีน้อยลง ส่วนใหญ่เป็นหนี้คงค้างรายเดิม ๆ ซึ่งฝ่ายกฎหมายอยู่ระหว่างการติดตามหนี้อยู่ ขณะที่แผนปรับปรุงท่าเรือเพื่อสร้างรายได้ให้มากขึ้นนั้น จะใช้เงินของบริษัทที่ปัจจุบันยังมีเงินสดเพียงพอสำหรับปรับปรุงท่าเรือ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ