PTT เผยกำไร Q3/61 เพิ่มขึ้น 1% QoQ จากธุรกิจ PTTEP หนุนแม้กลุ่มปิโตรฯ-โรงกลั่นถ่วง ,จ่ายภาษีปรับโครงสร้างธุรกิจน้ำมัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 12, 2018 18:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. ปตท. (PTT) ระบุว่าในไตรมาส 3/61 ปตท.และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 30,329 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 300 ล้านบาท หรือ 1% จากไตรมาส 2/61 สาเหตุหลักจากผลการดำเนินงานปกติของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ที่เพิ่มขึ้น จากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย โดยหลักจากธุรกิจการจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ

ขณะที่ผลการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นลดลง ซึ่งเป็นผลจากค่าการกลั่นทางบัญชี (Accounting GRM) ปรับลดลงตามกำไรสต๊อกน้ำมันที่ลดลง รวมถึงราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ที่ลดลง แม้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์จะเพิ่มขึ้น ประกอบกับผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจน้ำมันก็ปรับลดลงตามผลกระทบจากกำไรขั้นต้นที่ลดลง โดยหลักจากการขาดทุนจากสต็อกน้ำมันในไตรมาสนี้

อย่างไรก็ตาม ใน Q3/61 กลุ่ม ปตท. มีผลขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยงของตราสารอนุพันธ์ที่ลดลง และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นของเงินกู้สกุลต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ยังมีรายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ (Non-recurring Items) ได้แก่ การรับรู้ผลขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ แหล่งมอนทารา ของ PTTEP จำนวน 1,208 ล้านบาท ขณะที่ใน Q2/61 ไม่มีรายการดังกล่าว

ด้านภาษีเงินได้ ลดลง 627 ล้านบาท หรือ 3.5% จาก 18,122 ล้านบาทใน Q2/61 เป็น 17,495 ล้านบาทใน Q3/61 โดยหลักมาจากผลการดeเนินงานของบริษัทย่อยในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่ลดลง รวมถึง PTTEP ที่มีค่าใช้จ่ายทางภาษีลดลงจากผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แม้ว่า ปตท. จะมีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้สุทธิที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างธุรกิจน้ำมันใน Q3/61 จำนวน 6,033 ล้านบาทก็ตาม

สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกปี 61 ปตท.และบริษัทย่อยมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 286,953 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35,771 ล้านบาท หรือ 14.2% โดยหลักจากธุรกิจสำรวจและผลิตฯ ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจก๊าซฯ มีผลการดำเนินงานดีขึ้นในเกือบทุกหน่วยธุรกิจ โดยเฉพาะจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ธุรกิจการจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซฯที่ดีขึ้นทั้งปริมาณขายและราคาขาย และธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงผลการดำเนินงานบริษัทในกลุ่มธุรกิจก๊าซฯที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ธุรกิจการกลั่นมีผลการดำเนินงานโดยรวมดีขึ้นจาก Accounting GRM ที่ปรับสูงขึ้นจากกำไรสต็อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ รวมถึงผลการดำเนินงานธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์เพิ่มขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์และปริมาณขายที่สูงขึ้น

ในงวด 9 เดือนปี 61 มีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจำนวน 90,874 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,990 ล้านบาท หรือ 4.6% โดยหลักเพิ่มขึ้นจากธุรกิจสำรวจและผลิตฯ จากโครงการบงกชที่มีการเข้าซื้อสัดส่วนลงทุนเพิ่ม และจากกลุ่มธุรกิจ ก๊าซฯ ตามการรับรู้สินทรัพย์ที่พร้อมใช้งาน

ในงวด 9 เดือนของปีนี้ ปตท. และบริษัทย่อย มีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในการร่วมค้าและบริษัทร่วมจำนวน 6,789 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,580 ล้านบาท หรือ 30.3% จาก 5,209 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 60 โดยหลักเพิ่มขึ้นจาก PTTAC ที่มีราคาขายของผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น และจาก NatureWorks LLC ที่มีปริมาณขายเพิ่มขึ้นและราคาขายผลิตภัณฑ์ ที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ 4,561 ล้านบาท ซึ่งขาดทุนเพิ่มขึ้น 6,894 ล้านบาท จาก 9 เดือนปี 60 ที่มีกำไรจากตราสารอนุพันธ์ จำนวน 2,333 ล้านบาท โดยหลักเกิดจากขาดทุนจากสัญญาประกันความเสี่ยงทางการเงินและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของ ปตท. PTT International Trading Pte. Ltd. (PTTT) และ PTTEP

กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ลดลง 5,974 ล้านบาท จากจำนวน 10,702 ล้านบาท ใน 9 เดือนปี 60 เป็น 4,728 ล้านบาท โดยหลักมาจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจากการแปลงค่าเงินกู้ยืมสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯที่ลดลง ของ ปตท. ,บมจ.ไทยออยล์ (TOP) และบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) จากค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐใน 9 เดือนของปี 61 ที่แข็งค่าขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าช่วง 9 เดือนปี 60

ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 61 ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายจำนวน 1,718,738 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 254,975 ล้านบาท หรือ 17.4% โดยเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามราคาขายเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่เพิ่มขึ้นจาก 51.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็น 70.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือ 37.2%

นอกจากนี้ รายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ (Non-recurring Items) โดยหลัก เช่น การรับรู้ผลขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ แหล่งมอนทารา ของ PTTEP จำนวน 1,208 ล้านบาท ขณะที่ในช่วง 9 เดือนปีก่อน ปตท. มี Non-recurring Items จากรายได้เงินปันผลจากกองทุนรวม EPIF 4,310 ล้านบาท และกำไรจากการขายเงินลงทุนในกองทุนรวม 990 ล้านบาท รวมถึง PTTEP รับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์โครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ จำนวน 18,505 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางการเงิน ในช่วง 9 เดือนของปี 61 ลดลง 1,943 ล้านบาท หรือ 8.7% เป็น 20,446 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากเงินกู้ยืมระยะยาวเฉลี่ยลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการชำระคืนเงินกู้/หุ้นกู้ตั้งแต่เดือน ต.ค. 60 – ก.ย. 61

ปตท. และบริษัทย่อยมีภาษีเงินได้ เพิ่มขึ้น 24,405 ล้านบาท หรือมากกว่า 100.0% จาก 19,691 ล้านบาท ใน 9 เดือนปี 60 เป็น 44,096 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 61 โดยหลักมาจาก PTTEP ตามกำไรปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น และ ปตท. จากการใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนลดลง เนื่องจากใช้สิทธิครบวงเงินเมื่อไตรมาส 4/60 ของธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ รวมถึงกลุ่ม ปตท. มีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้สุทธิที่เกี่ยวข้องกับปรับโครงสร้างธุรกิจน้ำมันใน 9 เดือนปี 61 จำนวน 6,033 ล้านบาท ดังนั้นภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 61 เพิ่มขึ้นจาก 9 เดือนปี 60 ตามที่ได้กล่าวข้างต้น

ณ วันที่ 30 พ.ย.61 ปตท. และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,345,669 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 1,051,615 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวนรวม 1,294,054 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปตท.คาดว่าปี 61 ราคาน้ำมันดิบจะเฉลี่ยอยู่ที่ 70-75 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์ จะเฉลี่ยอยู่ที่ 6-7 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับลดลงจากปี 60 ตามภาพรวมตลาดน้ำมันสาเร็จรูปที่มีอุปสงค์ลดลงเมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้น

ด้านสมมติฐานความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศ ปี 61-65 มีอัตราการเติบโตลดลงเฉลี่ยปีละ 1.7% โดยประมาณการตามสถานการณ์ปัจจุบันที่การผลิตไฟฟ้าของประเทศจาก 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง เนื่องจากเอกชนมีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง

นอกจากนี้ในระยะยาว ความต้องการใช้ก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้าก็ปรับลดลงกว่าที่คาดการณ์เดิม โดยคาดว่าจะเข้าไปทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินได้เพียงบางโรง และทดแทน แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) ที่ 30% โดยคาดว่าแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) อาจเกิดได้ตามที่ภาครัฐคาดการณ์ไว้เดิม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ