(เพิ่มเติม) SIMAT ชนะประมูลเน็ตความเร็วสูงพื้นที่ห่างไกลโซน C กลุ่ม 4 ภาคอีสาน 2 มูลค่า 2.25 พันลบ.,คาดเริ่มรับรู้รายได้ Q1/62

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 14, 2018 10:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ไซแมท เทคโนโลยี (SIMAT) แจ้งว่าเมื่อวานนี้ (13 ธ.ค.) ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ประกาศให้บริษัท เป็นผู้ชนะการเสนอราคา ประกวดราคาจ้างโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) กลุ่มที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยเสนอราคาต่ำสุดเป็นเงินทั้งสิ้น 2,248 ล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 1/62 เป็นต้นไป

สำหรับพื้นที่เป้าหมาย ประกอบด้วย จังหวัดกาฬสินธุ์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โดยมีขอบเขตงาน 5 ประเภทบริการ ได้แก่ การจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ (Wi-Fi) ในหมู่บ้านเป้าหมาย ,การจัดให้มีอาคารศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ (USO Net) ,การจัดให้มีห้องบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ (USO Wrap) ,การจัดให้มีบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะสำหรับโรงเรียน และการจัดให้มีบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะสำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล

การดำเนินงานจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การจัดหาอุปกรณ์บริการ การติดตั้ง การทดสอบความพร้อมก่อนการให้บริการ (300 วัน) ,ระยะที่ 2 การบริหารจัดการและบำรุงรักษาต่อเนื่อง 5 ปี (60 เดือน) และระยะที่ 3 การส่งมอบอุปกรณ์หลังจากสิ้นสุด ระยะที่ 2 (ภายใน 60 วัน)

ทั้งนี้ การชำระจ่ายค่าจ้างจะแบ่งเป็น 14 งวด ได้แก่ ระยะที่ 1 แบ่งเป็น 3 งวด รวมเป็นจำนวนเงินร้อยละ 30 ของค่าจ้างบริการ ,ระยะที่ 2 แบ่งเป็น 10 งวด รวมเป็นจำนวนเงินร้อยละ 60.7 ของค่าจ้างบริการ และระยะที่ 3 งวดสุดท้าย เป็นจำนวนเงินร้อยละ 9.3 ของค่าจ้างบริการ

นายนรัตถ์ สาระมาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ SIMAT คาดว่าจะลงนามในสัญญาประมาณปลายเดือนธ.ค.61 โดยทางบริษัทสามารถเริ่มดำเนินงานได้ทันที และทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/62 เป็นต้นไปเป็นระยะเวลา 5 ปีอีกด้วย โดยโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) กลุ่มที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ครอบคลุมเขตพื้นที่ จังหวัดกาฬสินธุ์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ครอบคลุมพื้นที่ 2,124 หมู่บ้าน

"การเข้ารับงานโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกลโซนซีในครั้งนี้ ซึ่งส่งผลทำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการจะได้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง...นอกจากนี้ยังมีผลสำคัญในการสนับสนุนผลการดำเนินงานของบริษัทให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง"นายนรัตถ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ