(เพิ่มเติม) GPSC คาดกำลังผลิตไฟฟ้า COD ปีนี้แตะ 4.7 พันMW หวังดีลซื้อ GLOW เสร็จใน Q1/62 , ปี 61 กำไรโตเพียง 6% หลังต้นทุนก๊าซฯสูง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 12, 2019 14:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) คาดการณ์ว่าบริษัทจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มขึ้นในปี 62 จำนวน 3,218 เมกะวัตต์ (MW) จากกำลังผลิตไฟฟ้าในมือที่อยู่ระหว่างพัฒนาและจะแล้วเสร็จในปีนี้ รวมถึงการเข้าซื้อกิจการบมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) และการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/62 ก็จะผลักดันให้บริษัทมีกำลังผลิตรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ COD แล้วของบริษัทในปี 62 เท่ากับ 4,748 เมกะวัตต์ จากเดิมจำนวน 1,530 เมกะวัตต์ในปี 61 ซึ่งจะทำให้เห็นการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการกลับมาที่บริษัทได้อย่างเต็มปี ในช่วงปี 63

ทั้งนี้ โครงการในมือของบริษัทที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 3 โครงการ ที่จะเริ่ม COD ในปีนี้ ได้แก่ ศูนย์ผลิตสาธารณูปการระยองแห่งที่ 4 (CUP-4) คาดเริ่ม COD ในไตรมาส 3/62 , โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี (XPCL) ในลาว คาดจะเริ่ม COD ในเดือน ต.ค.62 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำลิก 1 (NL1PC) ในลาว คาดจะเริ่ม COD ต้นปี 62 รวมกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นจำนวน 392 เมกะวัตต์ ที่จะทยอยรับรู้ผลประกอบการในปี 62

นอกจากนี้การจะเข้าซื้อกิจการ GLOW ที่มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นจำนวน 2,771 เมกะวัตต์ (ไม่รวมโรงไฟฟ้า SPP 1) และกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นจำนวน 39.5 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการที่ COD แล้ว จึงสามารถรับรู้ผลประกอบการได้ทันทีหากดำเนินการเข้าซื้อเสร็จสิ้น และยังมีกำลังผลิตเพิ่มเติมจากส่วนต่อขยายของศูนย์ผลิตสาธารณูปการระยองแห่งที่ 3 (CUP-3) อีกจำนวน 15 เมกะวัตต์ด้วย

ส่วนความคืบหน้าการเข้าซื้อกิจการ GLOW ปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการร่วมกันกับ Engie Global Developments B.V. ซึ่งเป็นผู้จะขายหุ้น เพื่อแก้ไขเอกสารสัญญาที่เกี่ยวข้องอันเนื่องมาจากการเพิ่มเงื่อนไขบังคับก่อน รวมถึงการปรับเปลี่ยนราคาในการทำคำเสนอซื้อหุ้น GLOW ซึ่งจะส่งผลให้ราคาซื้อขายอาจปรับลดลงจาก 94.892 บาท/หุ้น ขึ้นกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการขายโรงไฟฟ้า SPP1 และ Synergy ที่ลดลงจากการไม่รวมโรงไฟฟ้า SPP1 โดยบริษัทคาดว่าจะบรรลุข้อตกลงและการซื้อหุ้นจาก Engie ได้ภายในช่วงไตรมาสที่ 1/62

สำหรับผลการดำเนินของ GPSC ในปี 61 บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 3,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปี 60 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่ศูนย์ผลิตสาธารณูปการระยองมีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากราคาขายไฟฟ้าและไอน้ำปรับตัวสูงขึ้น และปริมาณการขายที่เพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยตามการขยายกำลังผลิตของลูกค้า และโรงไฟฟ้า ไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ (IRPC -CP) เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เต็มทั้ง 2 ระยะ ตั้งแต่เดือนพ.ย.60 รวมทั้งโรงไฟฟ้า อิจิโนเซกิ โซลาร์ เพาเวอร์1 จีเค (ISP1) เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนธ.ค.60

นอกจากนี้ ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าในปี 61 เพิ่มขึ้นจากปี 60 จำนวน 78 ล้านบาท หรือ 15% เนื่องจากโรงไฟฟ้า บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น โครงการ 2 (BIC2) เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนมิ.ย.60 รวมทั้งมีการบันทึกรายได้ทางการเงินจากลูกหนี้ผู้ให้สัมปทานตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 12 (TFRIC12 )ของบริษัท ไฟฟ้าน้ำลิก 1 จำกัด อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิในปี 61 ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมากในช่วงครึ่งปีหลังของปี 60 ขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) เฉลี่ยทั้งปีปรับขึ้นเล็กน้อย อีกทั้งโรงไฟฟ้าศรีราชามีการหยุดซ่อมบำรุงรักษาครั้งใหญ่ (Major Overhaul) ตามแผนทำให้ค่าความพร้อมจ่ายปรับตัวลดลงรวม ทั้งเงินปันผลจากบริษัท ราชบุรี เพาเวอร์ จำกัด (RPCL) ปรับตัวลดลงจากปี 60 ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มของโรงไฟฟ้าประเภทผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) ที่มีลักษณะการรับรู้รายได้ลดลง นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ GPSC กล่าวว่า ทิศทางของการดำเนินงานในปี 62 มั่นใจว่าการเติบโตของธุรกิจจะเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ มีการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้า 2 โครงการใหญ่ ในประเทศ สปป.ลาว ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำลิก 1 (NL1PC) มีขนาดกำลังการผลิต 65 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี (XPCL) ขนาดกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ และอีก 1 โครงการ คือ ศูนย์ผลิตสาธารณูปการระยอง แห่งที่ 4 (CUP4) ขนาดกำลังการผลิค 45 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 70 ตัน/ชั่วโมง

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการใหม่หลายโครงการ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะการร่วมมือทางธุรกิจกับกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ในการศึกษาหาโอกาสการลงทุนในเมียนมา เพื่อนำก๊าซธรรมชาติมาใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นไปตามแผนงานของบริษัท ในการขับเคลื่อนและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตไปกับกลุ่มปตท. อย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ