(เพิ่มเติม) PPPM ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้รวม 1.12 พันลบ.จากเหตุปรับโครงสร้างกิจการ เร่งเจรจา-ทำแผนพร้อมแจ้งความคืบหน้าส.ค.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 31, 2019 12:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.พีพี ไพร์ม (PPPM) หรือชื่อเดิมคือบมจ.ไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ แจ้งว่าบริษัทได้ผิดนัดชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในเดือนก.ค.และส.ค. เนื่องจากการปรับโครงสร้างกิจการและโครงสร้างทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ส่งผลให้หุ้นกู้คงค้างที่เหลือทั้งหมดผิดนัดชำระหนี้ไปด้วย ทำให้บริษัทมียอดวงเงินผิดนัดชำระรวม 1,121.6 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ที่ได้กำหนดไว้ อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงกำหนดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ตามงวดชำระดอกเบี้ยในหุ้นกู้ส่วนที่เหลือ และยังไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใด

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (30 ก.ค.) ได้รับทราบปัญหาการชำระหนี้หุ้นกู้ดังกล่าว และทราบถึงแนวทางการปรับโครงสร้างกิจการ และปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัทโดยละเอียดแล้ว มีมติที่เกี่ยวข้องและได้แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้บริษัทดำเนินการเจรจาและดำเนินการจัดทำแผนการปรับปรุงโครงสร้างกิจการและปรับโครงสร้างทางการเงินและภาระหนี้ที่มีอยู่ของบริษัท ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมอบอำนาจให้ประธานกรรมการบริหารของบริษัท และ/หรือ บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท หรือกรรมการบริหาร เป็นผู้แทนของบริษัทในการเจรจาและทำความตกลงต่าง ๆ กับกลุ่มธนาคาร ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ผู้ถือหุ้นกู้ และเจ้าหนี้ เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ของบริษัท

พร้อมทั้ง อนุมัติแต่งตั้ง บริษัท ฟีนิกซ์ แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำแผนการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ของหุ้นกู้ทั้งหมดของบริษัท รวมทั้งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษากฎหมายในการแก้ไขปัญหาการชำระหนี้หุ้นกู้ของบริษัทโดยรวมทั้งหมด โดยบริษัทคาดว่าจะแจ้งความคืบหน้าแนวทางการแก้ไขปัญหาการปรับปรุงโครงสร้างทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ต่อสำนักงานก.ล.ต. และตลท.ได้ภายในวันที่ 31 ส.ค.62

สำหรับหุ้นกู้ดังกล่าว ประกอบด้วย หุ้นกู้ครั้งที่ 1/2560 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2562 มีมูลหนี้ 260.50 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.25 ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 27 ก.ค.62 โดยเริ่มผิดนัดชำระหนี้วันที่ 27 ก.ค.62, หุ้นกู้ครั้งที่ 2/2561 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2562 มีมูลหนี้ 319.50 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 7.25 ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 2 ส.ค.62 วันที่เริ่มผิดนัดชำระหนี้ วันที่ 30 ก.ค.62

หุ้นกู้ ครั้งที่ 3/2561 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2562 มีมูลหนี้ 134 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 7.25 ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 3 ก.ย.62 วันที่เริ่มผิดนัดชำระหนี้ วันที่ 30 ก.ค.62 , หุ้นกู้ครั้งที่ 1/2561 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2563 มีมูลหนี้ 200 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.00 ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 8 พ.ค.63 วันที่เริ่มผิดนัดชำระหนี้วันที่ 30 ก.ค.62

หุ้นกู้ครั้งที่ 1/2562 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2564 มีมูลหนี้ 207.60 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8.50 ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 18 มี.ค.64 วันที่เริ่มผิดนัดชำระหนี้ วันที่ 30 ก.ค.62

พล.อ.เชาวฤทธิ์ ประภาจิตร์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PPPM เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจ และโครงสร้างทางการเงิน เพื่อเสริมสร้างให้บริษัทฯ มีศักยภาพในการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืนในระยะยาว

ในส่วนของการปรับโครงสร้างธุรกิจ บริษัทให้ความสำคัญกับการรุกเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน เพราะมองว่าจะเป็นโอกาสในการขยายฐานรายได้ในรูปแบบ Recurring Income ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงถึงความสามารถในการสร้างรายได้ และผลประกอบการของบริษัทฯ ในระยะยาว

ขณะเดียวกันได้ปรับนโยบายการดำเนินธุรกิจในส่วนของการจำหน่ายอาหารสัตว์ มาใช้วิธีการจัดจ้างภายนอก (Supply Chain Outsourcing) ให้เป็นผู้ผลิต ทำให้ต้นทุนในการผลิตลดลง เหลือเพียงค่าใช้จ่ายจากการขายและการตลาดเท่านั้น ขณะที่ฐานรายได้ยังคงเดิมโดยมีรายได้จากธุรกิจขายอาหารสัตว์ 2,000 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าจะส่งผลให้ผลประกอบการมีแนวโมที่ดีขึ้น

ปัจจุบันบริษัทฯ มีหนี้หุ้นกู้อีก จำนวน 1,121 ล้านบาท ครบกำหนดชำระงวดแรกในวันที่ 30 ก.ค.62 โดยแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษาในการจัดทำแผน และจัดให้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ภายใน 30 วันนับจากวันครบกำหนดชำระ เพื่อนำเสนอแผนการยืดระยะเวลาชำระหนี้หุ้นกู้ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยบริษัทสามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดได้ (Callable bond) ซึ่งเชื่อมั่นว่าผู้ถือหุ้นกู้จะมีมติรับหลักการตามที่เสนอ เนื่องจากในระหว่างนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับชำระดอกเบี้ยตามปกติและผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Sweetener) อีกด้วย

"การดำเนินการตามแผนนี้ เป็นการแก้ปัญหาที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และ บริษัทจะมีผลประกอบการ อัตราส่วนการเงินดีขึ้นทันที โดยไม่ต้องพึ่งการระดมเงินกู้ระยะสั้น ดอกเบี้ยสูงอีกต่อไป และมีศักยภาพในการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืนในระยะยาว"พล.อ.เชาวฤทธิ์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ