เปิดใจ"หลุยส์ เตชะอุบล"แม่ทัพหญิงแกร่ง TRITN บทพิสูจน์ growth stock ตัวต่อไป

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 18, 2019 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ภายหลังจากเปลี่ยนจากชื่อเดิม บมจ.ไลฟ์ อินคอร์ปอเรชั่น (LIVE) มาเป็นชื่อใหม่ บมจ.ไทรทัน โฮลดิ้ง (TRITN) เมื่อช่วงปลายปี 58 จากนั้นไม่นาน "หลุยส์ เตชะอุบล" นักธุรกิจหญิงแถวหน้าทายาทตระกูลดัง"เตชะอุบล"เจ้าของเครือข่ายธุรกิจหลักทรัพย์ ,กองทุน ,และบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้เข้ามาบริหารเป็นแม่ทัพหลักเต็มตัว พร้อมประกาศผลักดัน TRITN กลับมามีผลประกอบการ"เทิร์นอะราวด์"เพื่อก้าวขึ้นติดอันดับหุ้นในสายตานักลงทุนให้ได้โดยเร็ว

ย้อนหลังผลประกอบการ TRITN ในปี 59 บริษัทมีขาดทุนสุทธิ 334.70 ล้านบาท ,ในปี 60 ขาดทุนสุทธิ 38.81 ล้านบาท และในปี 61 พลิกมีกำไรสุทธิ 148.66 ล้านบาท ก่อนจะประกาศจ่ายปันผลครั้งแรกรอบหลายปีในอัตรา 0.0034 บาทต่อหุ้น หลังล้างขาดทุนสะสมในวันที่ 24 พ.ค.62

*นักลงทุนก้าวสู่นักบริหาร TRITN

นางสาวหลุยส์ เตชะอุบล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทรทัน โฮลดิ้ง (TRITN) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า เริ่มเข้ามาเป็นผู้บริหาร TRITN ในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากการเป็นนักลงทุนและเข้ามาถือหุ้นในบริษัท ช่วงนั้นมองว่าศักยภาพธุรกิจมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และมองว่าบอร์ดบริหารชุดเดิมควรจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้มากกว่าที่เป็น ทำให้ตัดสินใจเข้ามาบริหารงานด้วยตัวเอง

อีกทั้งในช่วงนั้นมองเห็นโอกาสทางธุรกิจของบริษัทย่อย คือ บมจ.สเตรกา (STREGA) ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีความชำนาญหลากหลายทางด้านวิศวกรรม และมีอัตรากำไร (มาร์จิ้น) สูงถึง 40% แตกต่างจากธุรกิจเดิม คือ ธุรกิจมีเดียที่เป็น Sunset Industry ดังนั้น หลังจากเข้ามาบริหารก็ได้ทยอยปิดกิจการช่องทีวีดาวเทียม และ"สแพลชมีเดีย" ซึ่งประกอบธุรกิจป้ายโฆษณา เพื่อลดความเสี่ยงจากธุรกิจที่ไม่ทำกำไร กระทั่ง TRITN โยกย้ายจากเดิมจดทะเบียนในหมวดมีเดียมาเป็นหมวดก่อสร้างเต็มตัว

*วางกลยุทธ์ 3-5 ปี รายได้-กำไร เติบโตมั่นคง

นางสาวหลุยส์ กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตในช่วง 3-5 ปีข้างหน้าที่จะผลักดันผลประกอบการเติบโตอย่างมั่นคงและสม่ำเสมอ โดย Net income จะต้องเข้ามาเฉลี่ยปีละอย่างน้อย 300 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring income) สัดส่วน 50% และที่เหลืออีก 50% มาจากธุรกิจ EPC โดยเฉพาะจาก สเตรกา เนื่องจากมองว่ามีโอกาสได้งานอีกมาก เช่น โซนการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC เป็นต้น

"การทำ Restructure บริษัทหนึ่งไม่ได้ทำได้เร็ว ต้องใช้เวลานาน แต่ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 59 จนมาถึงปัจจุบันเราก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าผลประกอบการโดยรวมก็พลิกกลับมาดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ล้างขาดทุนสะสมได้หมดแล้ว สามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในรอบหลายๆปี

เราได้ล้างทุกอย่างที่เคยเป็น บมจ.ไลฟ์ อินคอร์ปอเรชั่น (LIVE) ผู้บริหาร ,บอร์ด ,และผู้ถือหุ้น ก็พร้อมใจกันทำให้บริษัทเติบโตขึ้นมาได้ ปัจจุบันบริษัทแทบจะไม่มีหนี้สินเลย มีกระแสเงินสดกว่า 1 พันล้านบาท มีวอร์แรนต์ที่พร้อมแปลงเป็นทุนในอีก 3-5 ข้างหน้า ดังนั้นเรื่องเงินทุนจึงไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการขยายกิจการในอนาคต ขณะที่แบงก์ก็พร้อมจะสนับสนุนการเงิน แต่สิ่งที่ยากในเวลานี้คือการหาโครงการลงทุนดีๆมาสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคตมากกว่า"นางสาวหลุยส์ กล่าว

*ปรับโครงสร้าง"สเตรกา"กวาด Backlog พุ่งเป็น 1 หมื่นลบ.

นางสาวหลุยส์ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ บมจ.สเตรกา ขยายกิจการไปมาก จากเดิมเป็นเพียงผู้รับงานก่อสร้างต่อ (Subcontractor) จากรายหลัก แต่ปัจจุบันก้าวมาเป็นผู้รับเหมาหลัก (Main Contractor) แล้ว และได้รับงานขนาดใหญ่หลายโครงการ จากเดิมที่มีปริมาณงานในมือ (Backlog) แค่ 200-300 ล้านบาท ล่าสุดเพิ่มขึ้นมาเป็น 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งภายหลังได้ปรับโครงสร้างธุรกิจแล้ว ในอนาคตอันใกล้มีโอกาสได้รับงานอีกมาก ช่วยสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มบริษัทได้อย่างรวดเร็ว

นางสาวหลุยส์ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ สเตรกา ขยายกิจการได้อย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเกิดจากโมเดลจับมือพันธมิตรต่างชาติอย่าง ไชน่า เรลเวย์คอนสตรั๊คชั่น (เซาท์อีสท์เอเชีย) ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมก่อสร้างในจีน , บริษัท RKE เป็นบริษัทย่อยของ Road King Infrastructure Limited เป็นบริษัทลงทุนและเป็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับทางด่วนที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมทางพิเศษมากว่า 20 ปี เป็นต้น

"เรามุ่งมาขยายกิจการในส่วนธุรกิจ Construction เพราะมองว่าในอีก 10 ปีข้างหน้านโยบายรัฐบาลและเม็ดเงินลงทุนต่างๆ จะเข้าในอุตสาหกรรมนี้เป็นจำนวนมาก จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มบริษัทได้ดีกว่าธุรกิจมีเดีย แม้ว่าเรามีแผนนำ สเตรกาเข้ามา IPO ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ปัจจุบันเราต้องเพิ่มธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเสริมก่อน เพื่อให้บริษัทเองมีกำไรเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว จึงเป็นเหตุผลที่เราเข้าไปขยายกิจการในส่วนธุรกิจพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ"นางสาวหลุยส์ กล่าว

*เส้นทางใหม่ก้าวสู่ "พลังงานทดแทน"

TRITN มีบริษัทย่อยในเครือรวม 4 บริษัท นอกเหนือจาก บมจ.สเตรกา ที่ถือหุ้นสัดส่วน 92.42% ของทุนชำระแล้ว ยังมี บริษัท ไทรทัน กรีน เอนเนอร์จี จำกัด (TGE) บริษัทถือหุ้น 51% ของทุนชำระแล้ว บริษัท ไทรทัน รีซอร์สเซส จำกัด (TRS) ถือหุ้น 99.99% ของทุนชำระแล้วดำเนินธุรกิจการค้าวัสดุก่อสร้างและการลงทุน และ บริษัท ไทรทัน พาวเวอร์ จำกัด (TPW) บริษัทถือหุ้น 99.99% ของทุนชำระแล้ว ดำเนินธุรกิจในด้านพลังงานทดแทน

นางสาวหลุยส์ กล่าวว่า ไทรทัน พาวเวอร์ มีแผนขยายลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอีกหลายโครงการ ที่ผ่านมาเข้าไปซื้อหุ้น 80% ในโรงไฟฟ้า หนองรี จำกัด (NRPP) ผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (ไบโอแก๊ส) ขนาดกำลังการผลิตสูงสุด 3 เมกะวัตต์ มูลค่า 150 ล้านบาท มีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ราว 15% และน่าจะคืนทุนภายใน 7 ปี

ส่วน ไทรทัน กรีน เอนเนอร์จี เป็นการร่วมถือหุ้นกับพันธมิตรที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯสิงคโปร์ และเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในเอเชีย โดยมีแผนมองหาโอกาสขยายการลงทุนในไทย มุ่งเน้น Waste-to-energy หรือ การผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ล่าสุดอยู่ระหว่างพิจารณาลงทุนร่วมในหลายโครงการ และมีหลายแห่งมีแนวทางที่จะเริ่มก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะนำเสนอรายละเอียดให้นักลงทุนได้ทราบต่อไป

และ ไทรทัน รีซอร์สเซส เน้นขยายธุรกิจจำหน่ายและนำเข้าวัสดุก่อสร้างและทรัพยากรธรรมชาติในประเทศสิงคโปร์ ล่าสุดอยู่ระหว่างพิจารณาลงทุน 10-20 โครงการ คาดว่าจะมีความชัดเจนของผลการศึกษาประมาณ 3-4 เดือนข้างหน้า

"แม้ว่าบริษัทเราจะเล็ก แต่ด้วย Connection ของผู้บริหาร บอร์ด ผู้ถือหุ้น ทำให้เรามีพันธมิตรรายใหญ่ที่ดีและมีคุณภาพที่จะดึงเข้ามาช่วยสร้างอนาคตให้กับบริษัท โดยแผนการลงทุนโครงการพลังงานทดแทน นโยบายของบอร์ดบริหารต้องการได้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 15% ดังนั้นการเลือกลงทุนแต่ละโครงการจึงค่อนข้างยาก เพราะต้องเข้าไปศึกษารายละเอียดความคุ้มค่าในการลงทุน และมีความเสี่ยงต่ำ ที่ผ่านมายอมรับว่าในอดีต 4-5 ปีก่อน บริษัทเคยมีความผิดพลาดมาแล้วในการเข้าลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน ทำให้เกิดความเสียหาย เราไม่อยากให้ความผิดพลาดกลับมาเกิดขึ้นอีกรอบ"นางสาวหลุยส์ กล่าว

https://youtu.be/Z440Ybwv42s


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ