ปธ.บอร์ด BAM ประกาศความพร้อมผงาดเข้าตลาดหุ้น ล้วงลึก IPO 17.50 บาทซื้ออนาคตบริหารพอร์ตหนี้แสนล้าน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 13, 2019 17:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เจ้าของพอร์ตหนี้กว่าแสนล้านบาท เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ เป็น IPO เบอร์ใหญ่ช่วงท้ายปี 62 ประกาศเดินหน้าลุยธุรกิจบริหารหนี้ภายใต้โครงสร้างใหม่ในฐานะบริษัทมหาชนที่ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจ พร้อมรักษาผลประกอบการที่มีศักยภาพทำกำไรสูงและอัตราการจ่ายปันผลในระดับที่ดีอย่างต่อเนื่อง แต่ยังยึดหลักการช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยเงื่อนไขยุติธรรม

BAM กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ 17.50 บาท จากมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 5 บาทต่อหุ้น คิดเป็น P/E ประมาณ 11 เท่า และ P/BV อยู่ที่ 1.53-1.73 เท่า ถ้าเทียบกับค่าเฉลี่ย P/E ของหุ้นกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์อยู่ที่ประมาณ 30 เท่า และค่าเฉลี่ย P/BV อยู่ที่ 1.77 เท่า คิดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ตามกราคา IPO จะอยู่ที่ประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 4 ของหุ้นกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์

สำหรับหุ้นเพิ่มทุนของ BAM ในครั้งนี้แบ่งเป็นหุ้นเพิ่มทุนใหม่ไม่เกิน 1,535 ล้านหุ้น แบ่งขายให้กับบุคคลทั่วไป 414.5 ล้านหุ้น และนักลงทุนสถาบัน 1,120.5 ล้านหุ้น และอาจจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) อีกไม่เกิน 230 ล้านหุ้น หรือรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1.76 พันล้านบาท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน

*มองราคา IPO เหมาะสมกับศักยภาพการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร BAM เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์"ว่า มุมมองต่อราคาหุ้น IPO ที่า 17.50 บาท โดยส่วนตัวมองว่าเป็นราคาที่มีความยุติธรรม เพราะด้วยโมเดลธุรกิจสามารถเติบโตมั่นคงในระยะยาว มีการบริหารจัดการในธุรกิจบริหารหนี้แบบเชิงลึก น่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่องค์กรในโลกที่ดำเนินกิจการในลักษณะนี้

BAM มุ่งเน้นเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินด้อยคุณภาพที่ปัจจุบันมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสามารถทำกำไรในระดับที่ดีจากต้นทุนที่ต่ำ ถ้าเทียบกับราคาประเมินในปัจจุบันและยังมีแนวโน้มมูลค่าที่จะเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต ขณะที่บริษัทมีพนักงานที่มีประสบการณ์ ทำให้สามารถสร้างกระแสเงินสดแต่ละปีเข้ามาสม่ำเสมอไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ธุรกิจบริษัทมีจุดเด่นแตกต่างกับธุรกิจอื่น เพราะสามารถเติบโตได้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย มีโอกาสเพิ่มพอร์ตได้มากขึ้นในต้นทุนต่ำกว่าปกติ ส่วนในยามที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูบริษัทได้รับประโยชน์จากการชำระหนี้ของลูกค้าได้ดีขึ้นอีกด้วย

*ประสบการณ์กว่า 20 ปีการันตีผลงานกับบทบาทเสาหลักบริหารจัดการหนี้เสียในระบบเศรษฐกิจ

นายบรรยง กล่าวต่อว่า ถ้าย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว BAM ก่อตั้งขึ้นหลังจากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้สถาบันการเงินในไทยหลายแห่งได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า สะท้อนจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ หนี้เสีย (NPL) พุ่งไปถึง 50% ของสินเชื่อรวมของสถาบันการเงินทั้งระบบ ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินในตลาดอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำอย่างมาก โดยบริษัท BAM เกิดขึ้นมาในฐานะบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อโยกย้ายหนี้เสียของธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ (BBC) ที่ล้มลงจากวิกฤต ส่วนหนี้ดีโยกย้ายไปให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดูแล

ณ วันนั้น BAM ได้รับภารกิจหลักในการดูแลหนี้เสียของ BBC มูลค่ากว่า 5.4 หมื่นล้านบาท โดยมีผู้ถือหุ้นหลักคือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ภายใต้สังกัดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ทุกวันนี้ BAM ได้บริหารจัดการหนี้เสียของ BBC ไปทั้งหมดแล้ว และจากผลประกอบการที่มีอัตราการเติบโตมาโดยตลอดจากการกระจายสาขาหลายแห่ง ปัจจุบันรวมกรุงเทพฯมี 26 แห่ง มีการจ่ายเงินปันผลให้กับกองทุนฟื้นฟูฯอย่างสม่ำเสมอ ถ้าคิดเป็นเงินที่คืนให้กับทางการตลอดการดำเนินกิจการมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท

ในช่วงเริ่มต้นตามมติของคณะรัฐมนตรี เดิม (ครม.) กำหนดเงื่อนไขก่อตั้ง BAM ขึ้นมาเพียง 5 ปีเท่านั้น เพื่อสะสางปัญหาหนี้เสียของ BBC แต่เวลานั้นยังพบว่าระบบสถาบันการเงินยังหนี้เสียในอัตราสูงกว่า 20-30% ของสินเชื่อรวม แม้ว่าจะลดลงมาจากช่วงวิกฤต และหากต้องปิดกิจการ BAM ลงก็อาจสร้างภาระให้คนตกงานจำนวนมากขึ้น ขณะเดียวกัน BAM นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญช่วยบริหารหนี้เสียของประเทศลดลง

นายบรรยง กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นเหตุผลให้กระทรวงการคลังและกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯมีข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้ BAM ยังดำเนินกิจการต่อไปได้ พร้อมกับขยายขอบเขตการประกอบกิจการปลดล็อกให้ซื้อหนี้จากสถาบันการเงินอื่น ๆ เข้ามาบริหารเพิ่มเติมได้ ภายใต้เงื่อนไข 2 ข้อหลักคือ 1.อย่าทำขาดทุน 2. หาเงินเองในการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารเอง

"วันนี้มีหนี้เสียในระบบเหลือเพียง 3% คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งบทบาทของ BAM ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจไทยมีความสมดุลมากขึ้นระหว่าง bad bank และ good bank แต่ในช่วงเริ่มแรกค่อนข้างหนักใจ เพราะในกรณีการซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหาร จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากหลักพันหลักหมื่นล้านบาท ด้วยความโชคดี BAM เพราะเวลานั้นได้รับโอกาส 1 ปีในการดำเนินกิจการ แต่ช่วงนั้นมีสถาบันการเงินรัฐแห่งหนึ่งต้องการเพิ่มทุน ซึ่ง BAM เข้าไปซื้อหนี้เสีย แม้ว่าซื้อในราคาสูงกว่าความเป็นจริงเล็กน้อย แต่สามารถขยายเวลาการชำระค่าหนี้ที่ซื้อมาได้นานกว่าปกติ ธนาคารรัฐรายนั้นก็สามารถเพิ่มทุนได้ตามเป้าหมาย ไม่ต้องปิดกิจการ ขณะที่ BAM ก็ดำเนินกิจการได้ระยะยาว" นายบรรยง กล่าว

*จุดเด่นพอร์ตหนี้ NPL-NPA ในมือกระจายทุกประเภททุกทำเลทั่วประเทศ-มูลค่าปรับขึ้นต่อเนื่อง

นายบรรยง กล่าวอีกวา ธุรกิจหลักของ BAM ในปัจจุบัน ประกอบด้วย 1.การเข้าซื้อและบริหารหนี้เสีย หรือสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และ 2.บริหารทรัพย์สินรอการขาย (NPA) เป็นการซื้อจากสถาบันการเงินในไทยนำมาบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่า ก่อนขายทอดตลาดต่อไป

ปัจจุบัน BAM มีหนี้ด้อยคุณภาพที่เป็น NPL ตามมูลค่าภาระหนี้เกณฑ์สิทธิ 400,000 กว่าล้านบาท ซึ่งมีหลักประกันตามมูลค่าประเมินประมาณ 200,000 ล้านบาท ส่วนมูลค่า NPA ตามราคาประเมินอยู่ที่ 55,000 ล้านบาท ถ้าคิดเป็นต้นทุนเฉลี่ยแล้วประมาณ 20,000 ล้านบาท มีส่วนต่างของกำไรช่วยเพิ่มศักยภาพการดำเนินกิจการเติบโตอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว เป็นทรัพย์สินกระจายอยู่ทั่วทุกจังหวัดในไทย แม้ว่าบางช่วงภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยอาจจะขายได้ยาก แต่บริษัทก็มีทรัพย์สินประเภทที่ดินในหลายจังหวัดที่มีความต้องการสูงโดยเฉพาะในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ

"บริษัทมีแนวทางการเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพย์สิน มีสโลแกน "ทรัพย์คุณภาพดี ราคายุติธรรม" ทำบ้านพร้อมอยู่พร้อมใช้มือสอง เป็นราคาต่ำกว่าบ้านมือหนึ่ง เวลาคนจะซื้อบ้านมือหนึ่งรายได้ตามไม่ค่อยทัน เพราะว่าถ้าย้อนดูสถิติพบว่า 4 ปีย้อนหลังราคาประเมินอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นกว่า 20% โดยปกติแล้วราคาประเมินของอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3% ทำให้บ้านมือสองเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัย ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินที่บริษัทถือครองไว้ยังเพิ่มขึ้นด้วยตัวเอง เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่บริษัทบริหารจัดการได้ดี"

*กองทุนฟื้นฟูฯ ลดสัดส่วนหุ้นแต่ยังคงถือหุ้นใหญ่ พร้อมหนุนสร้างระบบนิเวศทางการเงินสมดุล

นายบรรยง กล่าวต่อว่า ภายหลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ถือหุ้นเดิมคือกองทุนฟื้นฟูฯลดสัดส่วนลงต่ำกว่า 50% เพื่อให้องค์กรก้าวสู่การเป็นบริษัทเอกชนอย่างเต็มตัว ช่วยเพิ่มความคล่องตัวด้านการบริหารจัดการ ลดขั้นตอน ตัดสินใจเรื่องสำคัญได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือเพื่อต้องการให้มี bad bank ขนาดใหญ่ฝังอยู่ในระบบการเงินของประเทศอย่างถาวร สามารถทำงานร่วมกับ good bank สร้างระบบนิเวศทางทางการเงินของประเทศได้อย่างสมดุล

เงินที่ BAM ได้จากการระดมทุนด้วยการออกหุ้นเพิ่มทุนเสนอขาย IPO ในครั้งนี้บริษัทจะนำไปชำระคืนเงินกู้ที่ใช้ในการซื้อสินทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมาประมาณ 4 พันล้านบาท และอีกกว่า 400 ล้านบาทจะใช้สำหรับการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและสินทรัพย์รอการขายในอนาคต นอกจากนั้น ยังส่งผลให้ฐานะการเงินของบริษัทจะแข็งแกร่งมากขึ้น ด้วยอัตราหนี้สินต่อทุนที่มีแนวโน้มจะลดลงจากปัจจุบันที่ราว 1.7 เท่า

สำหรับการระดมทุนของ BAM ครั้งนี้ ช่วยให้กองทุนฟื้นฟูนำเงินไปลดภาระหนี้ได้กว่า 3 หมื่นล้านบาท คงเหลืออยู่อีกประมาณ 7.7 แสนล้านบาท จากเดิมที่มีอยู่กว่า 1.14 ล้านล้านบาท เนื่องจากก่อนหน้านี้บริษัทจัดสรรกำไรสะสมราว 1.3 หมื่นล้านบาทปันผลเพื่อใช้หนี้คืนให้กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งการจัดสรรเงินปันผลให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ในระยะต่อจากนี้ก็ยังจะช่วยให้กองทุนฟื้นฟูฯ ทยอยลดหนี้ลงได้อย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง BAM เสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้แบ่งเป็นหุ้นเพิ่มทุนใหม่ไม่เกิน 1,535 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 17.50 บาท แบ่งเป็นหุ้นที่กองทุนฟื้นฟูฯถืออยู่จำนวน 1,255 ล้านหุ้น เสนอขายนักลงทุนทั่วไป คิดเป็นเงินที่กองทุนฟื้นฟูฯจะได้รับ 2.19 หมื่นล้านบาท และหุ้นเพิ่มทุนใหม่ 280 ล้านหุ้น ทำให้ BAM จะได้รับเงินยังไม่หักค่าใช้จ่ายราว 4.9 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ยังมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) อีกไม่เกิน 230 ล้านหุ้น คิดเป็นเงิน 4 พันล้านบาท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ในกรณีที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินมีการใช้ Greenshoe ประมาณว่าเงินที่ BAM จะได้รับเงินจากการระดมทุนครั้งนี้จะประมาณ 6-8 พันล้านบาท ซึ่ง BAM จะนำเงินส่วนเพิ่มไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทต่อไป

"การระดมทุนครั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าได้รับเงินประมาณ 6 พันล้านบาท มองว่าเป็นจำนวนเพียงพอกับการขยายกิจการของบริษัทในระยะถัดไป ส่วนหนึ่งจะนำไปชำระหนี้ เพื่อให้อัตราหนี้สินต่อทุนลดลงกว่าเดิม ขณะที่หุ้นเก่าของกองทุนฟื้นฟูที่นำเสนอขาย ก็เพื่อต้องการลดสัดส่วนแปรรูปให้บริษัทมีความเป็นเอกชนเต็มตัว ฉะนั้นกองทุนฟื้นฟูต้องถือหุ้นต่ำกว่า 50% เพื่อให้หลุดจากกรอบการเป็นราชการ"นายบรรยง กล่าว

*วางเป้าสร้างกำไรเติบโตอย่างมั่นคง-ปันผลดีต่อเนื่อง

นายบรรยง กล่าวว่า ความโดดเด่นของ BAM คือศักยภาพทำกำไรสูง เนื่องจากมองว่าพนักงานกว่า 1,200 คน มีความเชี่ยญชาญจากประสบการณ์ทำงานด้านบริหารจัดการหนี้มายาวนาน และกระจายสาขาอยู่แทบทุกจังหวัด ทำให้สามารถเลือกซื้อทรัพย์สินที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพในแต่ละพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินในทุกประเภท รวมทั้งมีความเข้าใจและปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าได้รวดเร็ว

หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯไปแล้ว แต่บริษัทยังคงมุ่งสร้างกำไร ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร โดยกำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ แม้ว่าในบางปีอาจจะมีการนำกำไรไปลงทุนซื้อทรัพย์สินใหม่เข้ามาบริหารตามโอกาสทางธุรกิจที่เข้ามา แต่เชื่อมั่นว่าจะเป็นส่วนเสริมทำให้กำไรเติบโต ส่งผลบวกต่อผู้ถือหุ้นในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ถ้าบริษัทมีสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมากก็มีโอกาสจ่ายเงินปันผลได้มากกว่า 40% ของกำไรสุทธิอย่างแน่นอน

"ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดเข้ามาเฉลี่ยปีละกว่า 10,000 ล้านบาท และในอนาคตบริษัทมีแนวทางออกแคมเปญสร้างแรงจูงใจ ประนอมหนี้ และดูแลความสามารถด้านการผ่อนชำระของลูกค้ามากขึ้น อาทิ โครงการผ่อน 0% ในช่วง 2 ปีแรก เป็นต้น ซึ่งลูกค้าในกลุ่มดังกล่าวจะช่วยสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทอย่างสม่ำเสมอ"

สำหรับผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินของ BAM ระหว่างปี 59-61 รายได้เติบโตเฉลี่ย 5.5% ต่อปี มีกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 3.0% ต่อปี สำหรับงวด 9 เดือนปี 62 มีรายได้รวม 9,206 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,882 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตามรายงานระบุว่า BAM มีศักยภาพในการเติบโตจาก NPL และ NPA ในระบบสถาบันการเงินที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 30 ก.ย.62 ราคาประเมินของหลักทรัพย์ค้ำประกันมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีของลูกหนี้ NPL ของ BAM กว่า 2.4 เท่า (ราคาประเมินของหลักทรัพย์ค้ำประกัน = 195,554 ล้านบาท / มูลค่าทางบัญชี = 79,136 ล้านบาท) ราคาประเมินของ NPA ของ BAM มีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีกว่า 2.3 เท่า (ราคาประเมิน = 54,467 ล้านบาท / มูลค่าทางบัญชี = 23,245 ล้านบาท)

https://youtu.be/kyOFirhGpNE


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ