CPN ทบทวนแผนลงทุน หลังปิดศูนย์การค้า-โรงแรมจากพิษโควิด พร้อมอัดแผนลดค่าใช้จ่าย-รีไฟแนนซ์หนี้เสริมสภาพคล่อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday March 28, 2020 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) แจ้งว่าบริษัทอยู่ระหว่างการทบทวนแผนการลงทุนทั้งหมด หลังต้องปิดให้บริการศูนย์การค้า และโรงแรมชั่วคราว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยคาดว่าจะชะลอและปรับแผนการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ และการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการเดิมออกไป โดยพิจารณาความจำเป็นในแต่ละโครงการ เพื่อลดภาระด้านการลงทุนในสินทรัพย์ (Capital Expenditure)

ในสถานการณ์นี้ บริษัทให้ความสำคัญในการรักษากระแสเงินสดและเตรียมความพร้อมด้านสภาพคล่องเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย โดย ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 3,055 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อซึ่งยังมิได้เบิกใช้จำนวน 14,213 ล้านบาท

ณ สิ้นปี 2562 อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 0.37 เท่า ซึ่งยังคงอยู่ในระดับเป้าหมายภายในของบริษัทที่ 1 เท่า และต่ำกว่าเงื่อนไขของเงินกู้และหุ้นกู้ที่ระดับ 1.75 เท่า และมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี ประกอบด้วย เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน เงินกู้ยืมระยะสั้นจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และเงินกู้ยืมระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี ทั้งสิ้นจำนวน 8,865 ล้านบาท โดยจากสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทได้เตรียมแผนที่จะรีไฟแนนซ์หนี้สินดังกล่าว ด้วยการใช้เงินกู้ยืมระยะยาว โดยไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักที่ 2.91% ณ สิ้นปี 2562 อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี บริษัทสามารถกู้เงินระยะสั้นจากสถาบันการเงินเพื่อรองรับความต้องการของสภาพคล่องในสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างเพียงพอ

ขณะเดียวกัน บริษัทได้เตรียมแผนการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อรายได้และความสามารถในการทำกำไร โดยปรับลดค่าใช้จ่ายแปรผัน (Variable Expense) อาทิ ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายผู้ให้บริการจากภายนอก (Outsource) บางส่วน ตามระดับการปฏิบัติงานที่ลดลง รวมถึงค่าใช้จ่ายการบริหารทั่วไปตามจำนวนพนักงานที่สำนักงานลดลงจากนโยบายให้ทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ ค่าใช้จ่ายการเดินทางของพนักงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น

ตลอดจนมีการเจรจากับกับคู่ค้าเพื่อให้การดำเนินงานและเงื่อนไขต่าง ๆ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและสภาพแวดล้อมที่จำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม โดยบริษัทมีความห่วงใยเรื่องความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของพนักงาน การดูแลสุขอนามัยในสถานที่ทำงาน จัดทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมคุ้มครองให้กับพนักงานทุกคน รวมถึงบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีการโยกย้ายพนักงานในส่วนงานที่ไม่จำเป็นไปส่วนงานต่างๆ ที่ต้องการกำลังคนมากกว่า

ปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินแผนสำรองทางธุรกิจ (Business Continuity Plan หรือ BCP) โดยอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านและสถานที่ต่าง ๆ ที่ไม่อยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยง เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดและรองรับให้ทุกธุรกิจสามารถดำเนินงานได้ตามปกติอย่างไม่ขาดตอน อีกทั้งได้มีการทบทวนแผนงานของพนักงานทั่วทั้งองค์กรอย่างละเอียดรอบคอบ ระงับการจ้างพนักงานใหม่ชั่วคราว และปรับแผนงานของทุกแผนกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานให้สูงสุด นอกจากนี้ บริษัทยังคงพิจารณาหาแนวทางลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และพร้อมที่จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดหากสถานการณ์ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่แย่ลง

ทั้งนี้ บริษัทได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์ (Scenario Analysis) ภายใต้สมมติฐานที่หลากหลายตามสถานการณ์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทั้งในกรณีที่ดีขึ้นและแย่ลง โดยได้ทำการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ในเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าบริษัทยังสามารถรักษาสถานะทางการเงินให้เป็นไปตามเงื่อนไขของเงินกู้และหุ้นกู้ได้ อย่างไรก็ดีการวิเคราะห์และทดสอบอาจมีการทบทวนต่อไป จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วในอนาคตอันใกล้

CPN ระบุอีกว่า สำหรับการดำเนินงานในขณะนี้ ในส่วนธุรกิจให้เช่าและบริการในศูนย์การค้าและอาคารสำนักงาน ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 83% ของรายได้รวมในปี 2562 ได้มีการปิดให้บริการศูนย์การค้าชั่วคราวในแต่ละสถานที่ และในระยะเวลาที่ข้อกำหนดของแต่ละจังหวัดได้ระบุไว้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่าง 7-39 วัน โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อกำหนดของรัฐบาลในภายภาคหน้า อย่างไรก็ตาม ศูนย์การค้าดังกล่าวยังเปิดให้บริการซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าที่จำเป็น อาทิ ธนาคาร ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงอำนวยความสะดวกการจัดสรรพื้นที่และจัดระเบียบใหม่ให้มีบริการร้านอาหารแบบ Delivery และแบบซื้อกลับบ้าน โดยมีมาตรการปฏิบัติระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างเคร่งครัด

สำหรับศูนย์การค้าที่ยังเปิดให้บริการอยู่ได้ปรับเวลาเปิด-ปิด และมีมาตรการดูแลป้องกันลูกค้าอย่างทั่วถึงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและยังสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างเต็มที่ และปฏิบัติตามแนวทาง โดยระหว่างที่ศูนย์การค้าปิดให้บริการชั่วคราวนั้น บริษัทจะยกเว้นค่าเช่าให้แก่ร้านค้าที่ไม่สามารถดำเนินการได้จากการปิดให้บริการศูนย์การค้าชั่วคราวตามประกาศภาครัฐ รวมถึงมีการลดค่าเช่าให้แก่ร้านค้าในศูนย์การค้าที่ยังเปิดให้บริการตามปกติแต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเป็นการช่วยเหลือเยียวยาร้านค้าในศูนย์การค้าของบริษัท และพร้อมจะช่วยประสานงานให้ภาครัฐออกนโยบายเพื่อมาเยียวยาดูแลทุกภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการร้านค้า พนักงานร้านค้า และลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบและขาดรายได้จากวิกฤตการณ์ครั้งนี้

ปัจจุบันบริษัท ได้ปิดให้บริการศูนย์การค้าชั่วคราวทั้งหมด 15 โครงการ ในพื้นที่กรงเทพฯและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม - 30 เมษายน 2563 (ยกเว้น เซ็นทรัลพลาซา ศาลายา ปิดให้บริการระหว่างวันที่ 22-31 มีนาคม 2562) ตามข้อกำหนดของกรุงเทพมหานครและจังหวัดในเขตปริมณฑล

อาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ ในส่วนของอาคารสำนักงานภายใต้การบริหารของบริษัท ทั้ง 7 โครงการ รวมถึงอาคารสำนักงานภายใต้การบริหารของบมจ.แกรนด์ คาแนล แลนด์ (GLAND) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย อีก 3 โครงการยังเปิดให้บริการตามปกติ และมีมาตรการป้องกันคัดกรองผู้เดินทางเข้าออกอาคารสำนักงานอย่างเคร่งครัด

ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัด บริษัทมีศูนย์การค้าทั้งหมด 18 โครงการ โดยได้ทยอยปิดให้บริการศูนย์การค้าชั่วคราวไปแล้ว 13 โครงการตามข้อกำหนดของแต่ละจังหวัด ส่วนต่างประเทศ บริษัทมีศูนย์การค้า 1 โครงการ ได้แก่ เซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ ในประเทศมาเลเซีย ได้ปิดให้บริการระหว่างวันที่ 18 มีนาคม - 14 เมษายน 2563 ตามประกาศของรัฐบาลประเทศมาเลเซีย

ธุรกิจให้บริการศูนย์อาหาร ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 2% ของรายได้รวมในปี 2562 ตามประกาศจากภาครัฐ ไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการร้านอาหารแบบนั่งรับประทานที่ร้าน บริษัทได้ปิดพื้นที่ให้นั่งรับประทานอาหารในบริเวณศูนย์อาหารที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า โดยจัดสรรพื้นที่พิเศษในการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการสั่งซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่อื่น (Take-away) และบริการส่งอาหาร (Delivery) โดยมีมาตรการปฏิบัติระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างเคร่งครัด สำหรับศูนย์อาหารในศูนย์การค้าที่ไม่มีประกาศจากภาครัฐ บริษัทได้จัดที่นั่งให้เป็นไปตาม มาตรการปฏิบัติระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างเคร่งครัดเช่นกัน

ธุรกิจโรงแรม ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 3% ของรายได้รวมในปี 2562 บริษัทเปิดให้บริการโรงแรมฮิลตัน พัทยา และโรงแรมเซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ อุดรธานี ตามปกติในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ โดยเพิ่มมาตรการป้องกันและควบคุมการมาใช้บริการของลูกค้าอย่างทั่วถึง แต่เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในต่างประเทศที่มีมาตั้งแต่ต้นปี ทำให้จำนวนผู้เข้าพักซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากสถานการณ์ดังกล่าว บริษัทจะปิดให้บริการทั้งสองโรงแรมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป รวมถึงปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินธุรกิจโดยการลดต้นทุนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของรายได้

อย่างไรก็ดี บริษัทได้เลื่อนแผนการปรับปรุงโรงแรมฮิลตัน พัทยา ให้เร็วขึ้น โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานเตรียมพร้อมเปิดให้บริการใหม่ ในส่วนของโรงแรมเซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ อุดรธานี บริษัทจะพิจารณาเปิดให้บริการอีกครั้ง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โดยจะมีการติดตามและประเมินอย่างใกล้ชิด

ธุรกิจขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 8% ของรายได้รวมในปี 2562 บริษัทคาดว่าอุปสงค์โครงการที่พักอาศัยจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในโครงการใหม่ที่จะเปิดตัวในปี 2563 และโครงการที่มียอดจองยังไม่เต็ม อย่างไรก็ดี บริษัทอยู่ระหว่างการโอนโครงการที่พัฒนาแล้วเสร็จตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วให้แก่ลูกค้า และยังมียอดจองในโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจำนวนมากพอสมควร โดยคาดว่าจะสามารถโอนโครงการที่พักอาศัยดังกล่าวได้ส่วนใหญ่ภายในปี 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ