(เพิ่มเติม) GPI แตกไลน์ทุ่ม 250 ลบ.เข้าถือ 24.45% ใน True Energy โรงไฟฟ้าขยะชุมชนในนครสวรรค์คาด COD ใน Q3/63

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 1, 2020 11:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) GPI แตกไลน์ทุ่ม 250 ลบ.เข้าถือ 24.45% ใน True Energy โรงไฟฟ้าขยะชุมชนในนครสวรรค์คาด COD ใน Q3/63

บมจ.กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (GPI) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (31 มี.ค.) มีมติให้บริษัทเข้าลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด (True Energy) จำนวน 700,000 หุ้น หรือคิดเป็น 25.45% ด้วยมูลค่า 250 ล้านบาท โดย True Energy เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขยะชุมชน ขนาด 9 เมกะวัตต์ (MW) ในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในไตรมาส 3/63

โรงไฟฟ้าดังกล่าวมีสัญญาขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เวลา 5 ปี และต่ออายุสัญญาโดยอัตโนมัติต่อเนื่องครั้งละ 5 ปี โดยได้รับอัตราส่วนเพิ่ม (adder) จำนวน 3.50 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 7 ปี และหลังจากนั้นราคารับซื้อจะเป็นตามราคารับซื้อพื้นฐานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

(เพิ่มเติม) GPI แตกไลน์ทุ่ม 250 ลบ.เข้าถือ 24.45% ใน True Energy โรงไฟฟ้าขยะชุมชนในนครสวรรค์คาด COD ใน Q3/63

ทั้งนี้ การเข้าลงทุนครั้งนี้เป็นการลดความเสี่ยงการพึ่งพารายได้จากกลุ่มธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าและกิจกรรมส่งเสริมการตลาด โดยเป็นการขยายธุรกิจไปยังธุรกิจโรงไฟฟ้าซึ่งสามารถสร้างรายได้ที่แน่นอน มั่นคง และต่อเนื่องระยะยาวให้กับบริษัท นอกจากนั้น คณะกรรมการบริษัทยังได้พิจารณาถึงผลตอบแทนการลงทุนแล้วเห็นว่ามีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ภายใต้ความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ อีกทั้งยังส่งผลดีต่องบการเงินรวมของบริษัทจากการที่ True Energy มีสถานะเป็นบริษัทร่วมของบริษัท

สำหรับการลงทุนแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก บริษัทจะเข้าซื้อหุ้นเดิมจากผู้ถือหุ้นเดิมของ True Energy คือ นายจำรัส เตชะนิธิ (ผู้ขาย) จำนวน 450,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท หรือคิดเป็น 16.36% มูลค่า 50 ล้านบาท โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 1 เม.ย.63

ส่วนที่สอง บริษัทจะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ True Energy จำนวน 250,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท หรือคิดเป็น 9.09% มูลค่ารวม 200 ล้านบาท โดยการเข้าทำรายการส่วนที่ 2 จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ขายสามารถแสดงให้บริษัทมีความมั่นใจได้ว่า True Energy มีแหล่งเงินทุนที่จะต้องใช้ในการดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าของ True Energy ซึ่งคาดว่าการเข้าทำรายการส่วนนี้จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 12 พ.ค. แต่ไม่เกินกว่าวันที่ 30 มิ.ย.63

ทั้งนี้ ภายหลังจากการเข้าทำรายการส่วนที่ 2 ผู้ขายจะดำนินการใด ๆ เพื่อให้ True Energy ได้มาซึ่งโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน 2 แปลง ได้แก่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 13052 และ 28419 ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ จาก บริษัท ป่าสัก คลีน เพาเวอร์ จำกัด (ป่าสัก) ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยผู้ขาย โดยที่ดินดังกล่าวเป็นที่ตั้งของบ่อน้ำที่จะใช้ในการดำเนินการโรงไฟฟ้า ขณะเดียวกัน True Energy จะดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 32066 ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลลำพยา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ True Energy ให้กับ ป่าสัก โดยที่ดินดังกล่าว True Energy มิได้ใช้ประโยชน์สำหรับประกอบกิจการโรงไฟฟ้า

สำหรับ True Energy มีคดีความอันอาจมีผลกระทบต่อความชอบด้วยกฎหมายของใบอนุญาต โดยถูกประชาชนตำบลหนองกลับและตำบลหนองบัวฟ้องเป็นผู้ถูกฟ้องคดีในศาลปกครองนครสวรรค์ ร่วมกับหน่วยงานรัฐ โดยศาลฯได้นั่งพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 13 มี.ค.63 ซึ่งผลของคดีดังกล่าวอาจมีผลต่อความชอบด้วยกฎหมายของใบอนุญาตและการดำเนินการทางกฎหมายที่จำเป็นสำหรับการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าของผู้จะขาย ได้แก่ ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (อ.1) , คำสั่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงชนิดเชื้อเพลิงเกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) และกระบวนการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เมื่อวันที่ 1 พ.ย.60 (สำหรับประกอบการขออนุญาตผลิตไฟฟ้า)

สำหรับแหล่งเงินทุนในการเข้าซื้อหุ้นใน True Energy นั้น บริษัทจะชำระด้วยเงินสดซึ่งจะมาจากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

นายปราจิน เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ GPI กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะเป็นธุรกิจที่มีรายได้มั่นคงจากสัญญาการจำหน่ายไฟฟ้า ขณะเดียวกันบริษัทจะได้รับสิทธิเป็นกรรมการใน True Energy และ True Energy จะรับผิดชอบการบริหารโรงไฟฟ้าและการจัดหาขยะชุมชนเพื่อนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) เพื่อผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันมีแหล่งขยะเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อย

ด้านนายพีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ GPI กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีความคืบหน้าใกล้แล้วเสร็จ คาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยจะได้รับ Adder หรือส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 3.50 บาทต่อหน่วย เพิ่มจากค่าไฟฐานเป็นระยะเวลา 7 ปีนับจากวันที่เริ่มต้นจำหน่ายไฟฟ้า

นอกจากนี้ True Energy ได้ทำสัญญารับกำจัดขยะโดยวิธีคัดแยกกับเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ มีอายุสัญญา 25 ปี (นับจาก 12 พ.ย.58) เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า จากการประเมินปริมาณขยะจากบ่อฝังกลบของเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ พบว่ามีปริมาณขยะจากบ่อฝังกลบ 3 แห่งรวมประมาณ 5 แสนตัน ในจำนวนนี้ประมาณ 70% สามารถนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ซึ่งเมื่อรวมกับปริมาณขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต มั่นใจว่าจะมีปริมาณขยะเพียงพอต่อการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ตลอดอายุสัญญาจำหน่ายไฟฟ้า

ขณะเดียวกันยังวางแผนจัดหาแหล่งขยะสำรองโดยประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครสวรรค์และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น เทศบาลตำบลท่าตะโก เทศบาลเมืองตาคลี ฯลฯ รวมถึงได้เจรจากับภาคเอกชนเพื่อทำสัญญาซื้อขายเชื้อเพลิง RDF เพิ่มเติม

โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้มีมาตรการป้องกันและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่สอดคล้องกับเงื่อนไขและข้อกำหนดตามประมวลหลักการปฏิบัติ หรือ Code of Practice (COP) เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง อาทิ การออกแบบอาคารเป็นระบบปิด, ติดตั้งปล่องระบายมลพิษทางอากาศที่มีความสูงตามหลักเกณฑ์ Good Engineering Practice, มาตรการควบคุมการปล่อยสารมลพิษตามเกณฑ์มาตรฐาน, ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศจากปล่องระบายมลพิษแบบต่อเนื่องและตรวจวัดคุณภาพอากาศปีละ 2 ครั้ง, ควบคุมคุณสมบัติเชื้อเพลิง RDF ได้ตามมาตรฐาน, ตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ ฯลฯ

"ประเมินว่าการลงทุนครั้งนี้จะใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 5 ปี ประเมินอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return: EIRR) ที่ 11% ต่อปี ถือว่าค่อนข้างเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ จากปัจจุบันที่มีแหล่งรายได้จากธุรกิจจัดงานแสดงสินค้าด้านยานยนต์และกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ธุรกิจงานพิมพ์ และธุรกิจสื่อ"นายพีระพงศ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ