(เพิ่มเติม1) UWC ขายหุ้น 3 โรงไฟฟ้าชีวมวลให้ ACE กำลังผลิตรวม 26.9 MW มูลค่า 851.2 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 10, 2020 16:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เอื้อวิทยา (UWC) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (9 ก.ค.) อนุมัติการขายโรงไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 3 โรง กำลังการผลิตรวม 26.9 เมกะวัตต์ (MW) ในรูปแบบของการจำหน่ายหุ้นสามัญในบริษัทย่อยจำนวน 3 บริษัท และการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินให้กู้ยืมของบริษัทในราคาเบื้องต้นรวมทั้งสิ้นประมาณ 851.2 ล้านบาท ให้กับ บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) โดยคาดว่าบริษัทและผู้จะซื้อจะเข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้น รวมถึงการซื้อขายและโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินให้กู้ยืมแล้วเสร็จภายในวันที่ 21 ส.ค.63

สำหรับบริษัทย่อยทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท ยูดับบลิวซี โกเมน ไบโอแมส จำกัด (UKB) กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ในจ.นครราชสีมา ,บริษัท ยูดับบลิวซี อำพัน ไบโอแมส จำกัด (UAB) กำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ ในจ.บุรีรัมย์ และบริษัท สตึก ไบโอแมส จำกัด (SBM) กำลังการผลิต 7.5 เมกะวัตต์ ในจ.บุรีรัมย์ โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว

บริษัทจะโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ในหนี้เงินให้กู้ยืมที่ UAB และ SBM มีอยู่กับบริษัท พร้อมดอกเบี้ยค้างจ่าย (หนี้เงินให้กู้ยืม) ณ วันที่ทำการซื้อขายหุ้นที่จะซื้อขาย (วันที่ทำการซื้อขายเสร็จสมบูรณ์) ให้แก่ ACE โดย ณ วันที่ 31 มี.ค.63 หนี้เงินให้กู้ยืมทั้งหมดของ UAB และ SBM มีมูลค่ารวมประมาณ 761.31 ล้านบาท

ทั้งนี้ การซื้อขายหุ้นที่จะซื้อขายและการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว นับเป็นธุรกรรมการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ที่มีขนาดรายการรวมประมาณ 851.20 ล้านบาท คิดเป็นขนาดรายการสูงสุดเท่ากับ 70.82% และเมื่อรวมกับขนาดรายการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ก่อนวันที่ตกลงเข้าทำรายการในครั้งนี้ จะมีขนาดรายการเท่ากับ 73.66%

บริษัทมีแผนจะนำเงินที่ได้จากการขายบริษัทย่อยทั้ง 3 แห่งไปใช้คืนหุ้นกู้มีประกันจำนวน 300 ล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในเดือนมี.ค.64 , ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจหลักที่เป็นโครงการในประเทศ และ ใช้เป็นเงินหมุนเวียนสำหรับโครงการที่จะสามารถสร้างผลกำไรให้กับบริษัท โดยเฉพาะโครงการเสาโทรคมนาคมในต่างประเทศ ขณะที่การขายธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลจะช่วยลดความเสี่ยงจากการที่อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าคงเหลือที่ค่อนข้างสั้น ความเสี่ยงจากผลการดำเนินงานในอนาคต ความเสี่ยงจากความผันผวนของเชื้อเพลิงชีวมวล

UWC กำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2563 เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 20 ส.ค.63

ด้าน ACE ระบุเพิ่มเติมว่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้จะทำให้กลุ่มบริษัทมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ COD แล้วเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มี 9 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 89.1 เมกะวัตต์ เป็น 12 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 116 เมกะวัตต์ โดยบริษัทจะนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และจุดแข็งในด้านต่าง ๆ ที่มีในธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล มาทำการปรับปรุงพัฒนาเครื่องจักรโรงไฟฟ้า การเดินเครื่องจักรและการบำรุงรักษา การบริหารเชื้อเพลิง การบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน รวมทั้งต้นทุนทางการเงินของบริษัทที่จะเข้าซื้อกิจการให้ดี และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรและเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนให้แก่บริษัทด้วย

นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ ACE กล่าวว่า บริษัทมีความชำนาญในด้านการพัฒนาโครงการ ตลอดจนการดูแลและซ่อมบำรุง (O&M) อย่างครบวงจร และยังมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง มีอัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนต่ำเพียง 0.23 เท่า จึงสามารถลงทุนโรงไฟฟ้าได้อีกมาก เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นและสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

"ACE มุ่งเน้นการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งนอกจาก 3 โครงการนี้ บริษัทกำลังศึกษาการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าแล้วอีกจำนวนหลายโครงการ รวมถึงการเตรียมเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนตามนโยบายสำคัญของภาครัฐ 2 โครงการใหญ่ คือ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์โดยเฉพาะโครงการ Quick-Win ซึ่งเป็นเฟสแรก ล่าสุด กกพ.คาดว่าจะเปิดให้ยื่นประมูลภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และสามารถรับรู้รายได้อย่างรวดเร็ว และโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ รวมแล้ว 1,100 เมกะวัตต์"นายธนะชัย กล่าว

นายธนะชัย กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมทุกด้าน ทั้งประสบการณ์ การพัฒนา และบริหารโรงไฟฟ้ากว่า 212 เมกะวัตต์ โดยมีประสบการณ์การพัฒนาและบริหารโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด 213.01 เมกะวัตต์, ความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนา(R&D) พันธุ์พืชพลังงานมากกว่า 10 ชนิด และมีผู้บริหารที่มีประสบการณ์ด้านการวิจัยและพัฒนาพันธ์พืชมากว่า 40 ปี

การมีเครือข่ายโรงงานแปรรูปสินค้าทางการเกษตรและเครือข่ายเกษตรกรที่กลุ่มผู้บริหารบ่มเพาะมามากว่า 40 ปี จากการทำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร ครอบคลุมพืชหลักทุกชนิด อาทิ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ไม้โตเร็ว ฯลฯ ทำให้มีวัตถุดิบเพียงพอขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าอย่างต่อเนื่อง และยังมีเครือข่ายเกษตรกรต่างประเทศ ทำให้สามารถขยายกำลังการผลิตไปที่ต่างประเทศได้เช่นกัน, การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากวัสดุทางการเกษตรหลากหลายและมีความชื้นสูงมากกว่า 50 ชนิด, เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงจากขยะมูลฝอย, ความพร้อมทางการเงิน, ทีมวิศวกรที่มีศักยภาพ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญด้านการเดินโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดเกือบทุกชนิด

ปัจจุบัน ACE มีโรงไฟฟ้าในพอร์ตมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 212.18 เมกะวัตต์ และหากรวมกับการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ จะทำให้มีกำลังการผลิตในมือเพิ่มเป็นประมาณ 239 เมกะวัตต์ ขณะที่มีมีเป้าหมายระยะยาวที่จะเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งรวมมากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ภายในปี 67 จากโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา โครงการที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนา และโครงการในอนาคตทั้งโรงไฟฟ้าชุมชนและโรงไฟฟ้าขยะ อันจะส่งผลให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่องในช่วง 5 ปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ