(เพิ่มเติม) GUNKUL ขายโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น 2.86 พันลบ.หนุนบันทึกกำไร 1.09 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 4, 2021 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) GUNKUL ขายโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น 2.86 พันลบ.หนุนบันทึกกำไร 1.09 พันลบ.

บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.63 อนุมัติให้ Future Asset Management KK (FAM) และ Gunkul International (Mauritius) (GIM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ลงนามสัญญาซื้อขายหุ้น 100% ใน East Japan Solar 13 Godo Kaisha (EJS 13) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Iwakuni ประเทศญี่ปุ่น (โครงการ Iwakuni) ขนาดกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 75 เมกะวัตต์ (MW) และตามการผลิตติดตั้ง 98 เมกะวัตต์ ให้กับผู้ซื้อ ประกอบด้วย GK Kaihatsu No.77 และ ISH Kaihatsu No.77 ด้วยมูลค่าการขายรวม 9.94 พันล้านเยน หรือราว 2.86 พันล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทได้รับชำระเงินจากการขายหุ้นดังกล่าวครบถ้วนแล้ว และได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใน EJS13 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่แล้วเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.63

บริษัทคาดว่าจะบันทึกกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนดังกล่าวประมาณ 1.09 พันล้านบาท และจะทำให้มีสภาพคล่องและความสามารถในการก่อหนี้เพื่อใช้สำหรับการหมุนเวียนและการลงทุนใหม่ ตลอดจนมีความสามารถในการจัดหาโครงการใหม่ด้านพลังงานทดแทนและอื่น ๆ เพื่อสร้างอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ GUNKUL กล่าวว่า การขายหุ้นในโครงการ Iwakuni ทำให้บริษัทมีกำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวในไตรมาส 4/63 จำนวน 1.09 พันล้านบาท ซึ่งจะนำมาใช้ลงทุนในโครงการใหม่ได้มากกว่า 150 เมกะวัตต์ โดยที่ไม่ต้องใช้เงินส่วนทุนของบริษัทเพิ่ม นำไปสู่เป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตสู่ 1,000 เมกะวัตต์ในอนาคต ซึ่งในแต่ละปีบริษัทใช้งบลงทุนประมาณ 4-5 พันล้านบาท ขณะเดียวกันยังสามารถได้รับผลตอบแทนจากเงินลงทุนที่รวดเร็วจากการลงทุนโครงการใหม่ ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Iwakuni ต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปี จึงจะสามารถจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 63 คาดว่ากำไรจะเติบโตเกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการเติบโตในธุรกิจทุกด้าน และทยอยรับรู้รายได้จากมูลค่างานก่อสร้างที่ได้รับไว้แล้วกว่า 8 พันล้านบาท ประกอบกับ การจำหน่ายเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น ทำให้บริษัทมีสถานะทางการเงินที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในปี 64 ที่บริษัทมีความพร้อมในการลงทุนประมาณ 8 พันล้านบาท ถึง 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีกระแสเงินสดในมือ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการลงทุนได้มากขึ้น และจะเป็นหลักประกันสำคัญในด้านความเติบโตของบริษัทต่อไป

"ฝ่ายบริหารบริษัทเห็นว่าการจำหน่ายโครงการดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ทั้งในส่วนของการสร้างกระแสเงินสด เสริมความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุน ทำให้บริษัทมีโอกาส ได้รับผลตอบแทนเงินลงทุนเร็วขึ้นและมากกว่า ดังนั้น กำไรจากการจำหน่ายในโครงการดังกล่าว ทำให้บริษัทไม่ต้องใช้ส่วนทุนเพิ่มในการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ในอนาคต ที่สำคัญสร้างผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและบริษัทสูงกว่า"นางสาวโศภชา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ