INTERVIEW: STA ชูยุทธศาสตร์ 10 ปีอัพมาร์จิ้น,ลุ้นปีนี้ราคายางฟื้นหนุนรายได้ทะลุ 1 แสนล้านรอบ 10 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 5, 2021 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ยังคงรั้งอันดับ 1 ของโลกมาต่อเนื่องในการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติครบวงจรในรอบหลายปีที่ผ่านมา และนอกเหนือจากการนำ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (STGT) ผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกที่เป็นบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อช่วงกลางปี 63 และเตรียมนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์คาดว่าจะชัดเจนกลางปี 64 เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับกลุ่ม STA แล้ว การเดินหน้ายกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในทุกๆ มิตินับเป็นนโยบายหลักเพื่อสร้างการเติบโตให้กับกลุ่ม STA ในระยะยาว

แม้ว่าในช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 จะสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภาคการผลิตฉุดความต้องการและราคายางธรรมชาติลดลง แต่จากการมีสัญญาณกลับมาพลิกฟื้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในปี 64 กลายเป็นตัวแปรหลักที่จะช่วยผลักดันรายได้ของ STA มีกลับมาเติบโตทะลุ 1 แสนล้านบาทได้อีกครั้งรอบเกือบ 10 ปีหลังจากเมื่อปี 2554 บริษัทมีรายได้รวม 135,039 ล้านบาท และปี 2555 มีรายได้รวม 101,360 ล้านบาท พร้อมกับวางยุทธศาสตร์ระยะอีก 10 ปีข้างหน้าถึงโอกาสคว้าความยิ่งใหญ่ในเวทีระดับโลก

"อินโฟเควสท์" มีโอกาสพูดคุยกับ นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล หรือ"จูเนียร์" กรรมการบริหารและทายาทของ ดร.ไวยวุฒิ สินเจริญกุล ประธานกรรมการ STA ที่เป็นผู้สร้างอาณาจักรธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรเป็นผู้เล่นสัญชาติไทยเพียงรายเดียวที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) อันดับ 1 ของโลก

*ดัน STGT เข้าตลาดหุ้นปลดล็อกอัพไซด์แข็งแกร่งกับกลุ่มฯ

นายวีรสิทธิ์ กล่าวว่า โครงสร้างธุรกิจของกลุ่ม STA ปัจจุบันยังคงเป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรระดับโลกทั้งด้านกำลังการผลิต ,สัดส่วนการส่งออก และส่วนแบ่งการตลาด เป็นธุรกิจยางธรรมชาติประมาณ 80% เป็นซัพพลายเออร์ส่งวัตถุดิบให้กับผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่และธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบยางธรรมชาติทั้งหมด และสัดส่วนอีก 20% มาจากธุรกิจถุงมือยางของ STGT เป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งในอนาคตบริษัทมีเป้าหมายผลักดัน STGT เติบโตแบบก้าวกระโดด เนื่องจากศักยภาพทำกำไรที่ดีมีมาร์จิ้นสูงกว่าธุรกิจยางธรรมชาติมาก

"สำหรับธุรกิจ STGT มองว่าเป็นธุรกิจมีโอกาสเติบโตเป็นมูลค่ามหาศาลในอนาคต กลุ่ม STA ตัดสินใจนำบริษัทลูกเข้าสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการตัดสินใจนำ STGT เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯไม่ใช่เกิดจากตัวแปรการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่เป็นสิ่งที่กลุ่มฯมีความตั้งใจไว้ตั้งแต่ปี 2017 เพราะเล็งเห็นว่าธุรกิจถุงมือยางเป็นสินค้าที่มีกำไรค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับธุรกิจยางธรรมชาติที่ช่วงเวลานั้นราคาตกลงมา เป็นส่วนช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่ม STA เพื่อรักษาความเป็นผู้นำธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรอย่างต่อเนื่อง"นายวีรสิทธิ์ กล่าว

*แผนยุทธศาสตร์ 10 ปีมุ่งขยายถุงมือยางอัพมาร์จิ้น ,ศึกษารุกธุรกิจยางสังเคราะห์

นายวีรสิทธิ์ กล่าวต่อว่า แผนการขยายธุรกิจยางธรรมชาติ ปัจจุบันนโยบายบริษัทคงจะไม่ได้เร่งขยายกำลังการผลิตเหมือนกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากเดินหน้าขยายกำลังการผลิตยางแท่งให้เติบโตแบบก้าวกระโดดเพื่อรองรับกับดีมานด์ในตลาดโลก จากจำนวน 10 โรงงาน เพิ่มขึ้นมาเป็น 36 โรงงาน แต่จากนี้ธุรกิจยางธรรมชาติจะหันมามุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดการผลิตและพัฒนาสินค้าในมิติต่างๆอย่างต่อเนื่อง

ใน 10 ปีข้างหน้ากลุ่ม STA มีเป้าหมายต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจถุงมือยางมาเป็น 50% จากปัจจุบัน 20% และที่เหลืออีก 50% เป็นธุรกิจยางธรรมชาติ แม้ว่าในอนาคตธุรกิจถุงมือยางอาจเกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลายบางช่วงจังหวะหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายไปแล้ว แต่ก็ยังมีมาร์จิ้นที่ดีสร้างผลกำไรให้กับกลุ่มฯอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนศึกษาการขยายธุรกิจอื่นด้วยที่จะสามารถต่อยอดการเติบโตให้กับกลุ่ม STA เช่น ธุรกิจยางสังเคราะห์ที่มีความต้องการสูงในตลาดโลก

"ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาบริษัทโฟกัสการผลิตสินค้ายางแท่ง ทำให้กำลังการผลิตและโรงงานเติบโตขึ้นมาถึง 3 เท่า และหลังจากนี้ 10 ปีจะมาโฟกัสเรื่องการขยายการผลิตธุรกิจถุงมือยาง นโยบายการขยายกิจการของกลุ่ม STA ยอมรับว่าเราไม่ค่อยถนัดการเข้าไปซื้อกิจการ แต่จะถนัดขยายกิจการด้วยรูปแบบ Greenfield หรือพัฒนากิจการด้วยตัวเองมากกว่า เพราะจะเห็นว่าเราขยายธุรกิจจากการซื้อกิจการน้อยมาก มีเพียงแค่ดีลซื้อกิจการ"ไทยกอง"มาเมื่อ 2 ปีที่แล้วเท่านั้น แต่รายของ"ไทยกอง"มีความคุ้นเคยจากการเป็นซัพพลายเออร์ให้กับกลุ่ม STA หลากหลายผลิตภัณฑ์เป็นสัดส่วนสูงทำให้การซื้อกิจการของ"ไทยกอง"กลายเป็นการเพิ่มมูลของกิจการให้กับกลุ่ม STA ค่อนข้างมาก"นายวีรสิทธิ์ กล่าว

*ลุ้นราคายางธรรมชาติฟื้นปี 64 หนุนรายได้ทะลุ 1 แสนล้านอีกครั้ง

แนวโน้มราคายางธรรมชาติช่วงปลายปี 2563 พบว่าเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงเริ่มแรกที่เกิดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมภาคการผลิตหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 กลับมาผ่อนคลายอุตสาหกรรมการผลิตกลับมาเร่งการผลิตอีกครั้ง น่าจะเห็นการกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส4/63 เป็นต้นไป

ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณกลับมาเดินหน้าผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกแล้ว โดยเฉพาะในประเทศจีนเดินหน้าผลิตเต็ม 100% ส่งผลโดยตรงต่อความต้องการยางธรรมชาติที่เป็นธุรกิจหลัก

ขณะที่ปี 64 คาดว่าจะเห็นการกลับมาเร่งคำสั่งซื้ออย่างชัดเจนเพื่อหวังเติบโตชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในปี 63 ทำให้แนวโน้มราคายางยางธรรมชาติมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นไปถึง 60-80 บาทต่อกิโลกรัม หรืออาจกลับไปแตะ 100 บาทต่อกิโลกรัม หากเป็นเช่นนั้นมีโอกาสสูงรายได้ STA จะกลับมาขึ้นไปถึง 1 แสนล้านบาทได้อีกครั้ง จากเมื่อปี 54 บริษัทมีรายได้รวม 135,039 ล้านบาท และปี 55 มีรายได้รวม 101,360 ล้านบาท

นอกจากจะรับปัจจัยสนับสนุนจากราคายางธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว บริษัทยังจะได้รับแรงสนับสนุนจากกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

"ผมอยากย้อนไปมองช่วงเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ช่วงเวลานั้นราคายางตกต่ำมาก แต่หลังจากนั้นก็กลับมาฟื้นตัวโดดเด่นในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งจากการประเมินภาพในปี 64 การฟื้นตัวของราคา Commodity ก็จะคล้ายกับเมื่อปี 2009-2010 เรามองจะเป็นปีที่อุตสาหกรรมภาคการผลิตจะเร่งการผลิตเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในปี 63 ส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบ Commodity เช่น ยางธรรมชาติ ,ยางสังเคราะห์ ,เหล็ก ,ทองแดง เป็นต้น จะเป็นหนึ่งในตัวแปรกระตุ้นราคา Commodity พลิกเป็นขาขึ้นอีกครั้ง เว้นแต่จะมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดโควิด-19 กลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง"นายวีรสิทธิ์ กล่าว

ส่วนกรณีความเสี่ยงจากการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงปลายปี 63 มองว่าเป็นอุปสรรคบ้าง ไม่ได้ร้ายแรงจนเกินไปเพราะการแข็งค่าของเงินบาทรอบนี้เป็นไปตามทิศทางเดียวกับประเทศภูมิภาคเอเชียที่เป็นคู่แข่งขันทางการค้าในตลาดโลก ส่วนภาพรวมไตรมาส4/63 ที่มีโอกาสจะกระทบต่อผลประกอบการนั้นปัจจุบันบริษัททำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อป้องกันผลกระทบบ้างแล้ว

"ผมอยากมองตัวอย่างปี 2018-2019 ค่าเงินของไทยแข็งค่าอยู่ประเทศเดียว แต่ค่าเงินประเทศมาเลเซียและจีนกลับอ่อนค่าชัดเจน ถ้าเป็นภาวะแบบนั้นอีกเราแข่งขันลำบากแน่ๆ แต่ว่าปลายปี 63 ค่าเงินบาทส่งสัญญาณแข็งค่า แต่ความรู้สึกไม่ได้รับผลกระทบหนักเหมือนกับ 2 ปี เพราะการที่ค่าเงินแข็งค่าไปในทางเดียวกันทำให้เราสามารถแข่งขันได้"นายวีรสิทธิ์ กล่าว

https://youtu.be/Kqd9VYvjdzM


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ