บอร์ด THCOM ไฟเขียวสร้างดาวเทียมใหม่ทดแทนไทยคม 4 รวมค่าไลเซ่นส์ 1.52 หมื่นล้าน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 13, 2023 09:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ไทยคม (THCOM) เปิดเผยว่า คณะกรรมการของบริษัทอนุมัติให้บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด (STI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ THCOM ถือหุ้น 100% เข้าลงทุนโครงการดาวเทียม หลังจากขอรับใบอนุญาตให้ใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียมในชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก และ 120 องศาตะวันออก และชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก ที่ STI เป็นผู้ชนะการประมูลจากคณะกรรมการกิจการกระจาย เสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.)

และเนื่องจากการสร้างดาวเทียมเฉพาะของชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการให้ทันก่อนที่ดาวเทียมไทยคม 4 ที่บริษัทให้บริการอยู่ในปัจจุบันจะหมดอายุลง (ตามการประเมินทางวิศวกรรมคาดว่าจะสิ้นสุดอายุประมาณปี 2567) เพื่อให้บริษัทสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการบริษัทฯจึงให้ STI ลงทุนสร้างดาวเทียมของชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออกก่อน

การลงทุนครั้งนี้มีกรอบวงเงินการลงทุนสูงสุดไม่เกิน 15,203 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ประกอบด้วย (ก) ค่าธรรมเนียมชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก และ 120 องศาตะวันออก และค่าธรรมเนียมชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก จำนวนเงินประมาณ 797.43 ล้านบาท

และ (ข) การสร้างดาวเทียมของชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก พร้อมทั้งนำดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรเพื่อรักษาสิทธิในการเข้าใช้ รวมตลอดจนถึงการก่อสร้างสถานีควบคุมดาวเทียม (Telemetry, Tracking, Command and Monitoring - TTC&M) สถานีควบคุมการบริหารจัดการดาวเทียม (Traffic Management หรือ Gateway Station) และ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในวงเงินประมาณ 433.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 14,405.21 ล้านบาท

เบื้องต้น บริษัทจะจัดหาดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก จำนวน 3 ดวง (ขึ้นอยู่กับการความจำเป็นและเหมาะสม) โดยจะสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก (10 Gbps) จำนวน 2 ดวง คาดว่ามีมูลค่ารวม 65.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,181 ล้านบาทต่อดวง ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในปี 2568 และมีอายุการใช้งานประมาณ 8 ปี และมีแผนก่อสร้างดาวเทียมขนาดใหญ่ (100 Gbps) คาดว่ามีมูลค่า 238.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 7,917 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี คาดเริ่มให้บริการในไตรมาส 3/70 อายุการใช้งานประมาณ 15-16 ปี

ส่วนการจัดสร้างสถานีควบคุมการบริหารจัดการดาวเทียม (Traffic Management หรือ Gateway Station) รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นวงเงินลงทุนประมาณ 64.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,127 ล้านบาท

เพื่อเป็นการรักษาฐานลูกค้าเดิมและความต่อเนื่องของการให้บริการของลูกค้าปัจจุบันภายใต้วงโคจร 119.5 องศาตะวันออก บริษัทฯ อาจพิจารณาดำเนินโครงการดาวเทียมขนาดเล็กก่อน เพื่อให้บริการได้ต่อเนื่องกับระยะเวลาสิ้นสุดอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียมไทยคม 4 และอาจดำเนินโครงการดาวเทียมขนาดใหญ่ควบคู่กันไป เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้า และตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของบริการดาวเทียมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้

สำหรับวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก STI ต้องมีดาวเทียมเพื่อรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นสมบูรณ์ โดยภายในระยะเวลา 3 ปีหลังจากได้รับสิทธิ ทำให้ยังมีเวลาอีกระยะหนึ่งในการพิจารณาการลงทุนโดยละเอียดรอบคอบ ส่วนโครงการดาวเทียมวงโคจร 120 องศาตะวันออก เป็นสิทธิเข้าใช้วงโคจรขั้นต้นจำเป็นต้องประสานงานคลื่นความถี่ให้ได้ข้อสรุปเป็นที่เรียบร้อยและนำเสนอต่อ กสทช. ก่อนจะศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดสร้างดาวเทียม บริษัทฯ และ STI จึงยังไม่ได้มีแผนการจัดสร้าง

การลงทุนโครงการดาวเทียมและเงินทุนสำหรับการชำระค่าใบอนุญาต บริษัทและ STI จะใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินประมาณ 65-85% ของมูลค่าการลงทุนโดยรวม ส่วนที่เหลือคาดว่าจะมาจากเงินเพิ่มทุนจาก THCOM และกระแสเงินสดของ STI โดย ณ สิ้นปี 65 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดและเงินลงทุนชั่วคราว 5,848.18 ล้านบาท อีกทั้งยังมีวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้ใช้ราว 4,000 ล้านบาท เพียงพอต่อการลงทุนโครงการดาวเทียม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ