In Focusผวาราคาทองดิ่งเหว ส่งสัญญาณนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโลก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 17, 2013 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ย้อนไปในช่วงเดือนเม.ย.ของปี 2554 บรรดานักลงทุนคงไม่ลืมปรากฏการณ์ "Gold Rush" หรือ "กระแสตื่นทอง" เมื่อราคาทองคำตลาดโลกพุ่งทำนิวไฮตั้งแต่วันทำการวันแรกของปี 2554 ที่ระดับ 1,422.90 ดอลลาร์/ออนซ์ และนับจากนั้นราคาทองก็ติดปีกทะยานสู่ช่วงขาขึ้นมาโดยตลอด กระทั่งเมื่อราคาพุ่งถล่มแนวต้านที่ 1,450 ดอลลาร์เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ของปีดังกล่าว ภาวะ "up trend" ของราคาทองในช่วงนั้นทำให้ จิม โรเจอร์ส กูรูคอมมอดิตี้ผู้โด่งดังได้ออกมาทำนายว่าโอกาสที่ราคาทองจะพุ่งแตะ 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์มีสูงมาก เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และความไม่สงบทางการเมืองในหลายประเทศ

นอกจากนี้ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนแห่ซื้อทองคำ เพราะเมื่อเกิดเงินเฟ้อ สินทรัพย์ประเภทอื่นๆจะอ่อนแอและแปรปรวน แต่ทองคำยังมั่นคงอยู่ได้เพราะเป็น safe heaven asset ที่ใครๆก็อยากถือครองไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยง สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนทุกวันนี้ก็คือการอัดฉีดเงินภาษีของประชาชนเข้าสู่ระบบการเงิน บนพื้นฐานของความพยายามที่จะกู้ซากเศรษฐกิจให้คืนชีพอีกครั้ง โดยเฉพาะมาตรการ QE ของสหรัฐที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นต้นตอของปัญหาเงินเฟ้อ

แต่ในเดือนเม.ย.ปี 2556 ขณะที่เดือนที่อุณหภูมิร้อนปรอทแตกและบ้านเมืองเราขาดแคลนไฟฟ้าจนถึงขนาดต้องเวียนกันดับไฟในบางพื้นที่ สิ่งที่ร้อนแรงยิ่งกว่าอากาศอบอ้าวก็คือการดิ่งเหวของราคาทองคำที่กลายมาเป็น "Talk Of The Town" ...ไล่ตั้งแต่ชาวบ้านร้านตลาดไปจนถึงนักธุรกิจในทุกแวดวง แทบจะไม่มีวงการไหนไม่พูดถึงราคาทองคำที่ตกต่ำจนน่าใจหาย แต่หากไม่ Talk ก็คงแปลก เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูราคาทองคำตลาดนิวยอร์กเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2556 ก็พบว่า ราคาทองยืนตระหง่านอยู่ที่ระดับ 1,675.8 ดอลลาร์/ออนซ์ พุ่งขึ้น 1.2% จากวันที่ 29 ธ.ค.ของปี 2555 จากนั้นราคาไหลลงสู่ down trend zone เรื่อยมาจนถึงต้นเดือนเม.ย. แต่ที่ทำเอาคนค่อนโลกตื่นตระหนกมากที่สุดก็คือเมื่อจันทร์ที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่พวกเราชาวไทยยังเล่นน้ำวันสงกรานต์กันอย่างสนุกสนานและร้านทองบ้านเราต่างพากันปิดพักผ่อนนั้น ราคาทองคำตลาดโลกดิ่งลงไป 140.3 ดอลลาร์ หรือ 9.27% ปิดที่ 1,361.1 ดอลลาร์/ออนซ์ หากคิดเป็นเปอร์เซนต์รวมก็พบว่า ราคาทองดิ่งลงมาแล้วเกือบ 20% ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ หลังจากปิดตลาดรายปีในแดนบวกมานานติดต่อกัน 12 ปี และดิ่งลงจากสถิติสูงสุดที่ 1,920.30 ดอลลาร์ที่ทำไว้ในเดือนก.ย. 2554

เมื่อคราวที่วิกฤติหนี้สาธารณะยุโรปเริ่มเผยโฉมออกมา นักลงทุนต่างเก็งกันว่า ทองจะเป็นสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากการเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเงิน แต่แล้วสถานการณ์กลับตาลปัตรเมื่อปลายปีที่แล้ว เมื่อวิกฤติหนี้ยุโรปพ่นพิษใส่ทองเข้าอย่างจัง วิกฤติหนี้ยุโรปฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ รวมทั้งทอง โดยนักลงทุนเลือกที่จะถือครองเงินสดเอาไว้ เผื่อกรณีเกิดเหตุไม่คาดคิดใดๆ และเลือกถือดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย แต่ให้ผลตอบแทนต่ำ (โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำจนเกือบเป็นศูนย์)

ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงทองคำกล่าวว่า สาเหตุที่ราคาทองคำปรับตัวลงอย่างรุนแรงในช่วงนี้เป็นผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ออกมาตอกย้ำว่าเฟดอาจหยุดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ หรือ QE หรืออีกนัยหนึ่งคือหยุดการพิมพ์เงินดอลลาร์เข้ามาในระบบเร็วกว่ากำหนด โดยอาจจะยุติภายในสิ้นปีนี้ รวมทั้งประเด็นที่ว่าธนาคารกลางไซปรัสถูกบีบให้ขายทองคำสำรองออกมาเพื่อระดมเงินทุนราว 400 ล้านยูโรเพื่อแก้วิกฤติหนี้ ตามข้อตกลงช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าธนาคารกลางของประเทศอื่นๆในยุโรปที่มีปัญหาหนี้อาจถูกกดดันให้ขายทองคำสำรองออกมาเช่นกัน โดยเฉพาะ โปรตุเกสและอิตาลี ซึ่งมีปริมาณทองคำสำรองในระดับสูง ซึ่งข่าวดังกล่าวยิ่งกดดันให้มีแรงเทขายทองคำของนักลงทุนและกองทุนต่างๆออกมาจำนวนมาก และซ้ำเติมให้ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ข่าวที่ว่านายจอร์จ โซรอส เจ้าของฉายาพ่อมดการเงิน ซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่าโจมตีค่าเงินบาทของไทยจนเป็นเหตุให้เกิดวิกฤตการเงินในปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ได้ทยอยขายทองคำออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมานั้น ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการตกต่ำของราคาทองคำ ...โซรอสเทขายยังไม่พอ ยังออกมาซ้ำเติมตลาดด้วยการแสดงความเห็นในด้านลบกับหนังสือพิมพ์เซาธ์ ไชน่า มอร์นิง โพสท์ว่า "ทองคำได้สูญเสียสถานะของการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยแล้ว และสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้พิสูจน์ได้ว่า ทองไม่ใช่สินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังลดปริมาณการถือครองทองลงเพราะความผิดหวังในเรื่องนี้"

"การที่สกุลเงินยูโรร่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ก็ยิ่งทำให้ราคาทองร่วงลง ขณะที่นักลงทุนเองก็ผิดหวังอย่างมาก เพราะพวกเขาเคยมองว่าทองจะเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เมื่อรู้สึกผิดหวัง พวกเขาจะพยายามขายสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งออกมา พวกเขาก็เลือกที่จะเทขายทอง นี่จึงเป็นเหตุให้ราคาทองดิ่งลงไปพร้อมกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ" โซรอสกล่าว

โซรอสยังกล่าวกับเซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสท์ด้วยว่า ทองคำได้เผชิญกับภาวะฟองสบู่อย่างเต็มรูปแบบในปี 2555 และเขาได้ปรับลดสถานะการลงทุนในกองทุน SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุน ETF ทองที่ใหญ่ที่สุดในโลกลงกว่า 50 % โดยในไตรมาส 3/2555 เขาถือครองหุ้น 1.3 ล้านหุ้นในกองทุนแห่งนี้ ก่อนจะปรับลดลงเหลือ 600,000 หุ้นในไตรมาส 4/2555

นอกจากนี้ ราคาทองยังถูกกระทบอย่างรุนแรงจากการที่ธนาคารรายใหญ่ระดับโลกได้ออกมาปรับลดคาดการณ์ราคาทองคำกันเป็นระยะๆ โดยล่าสุดคือโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งปรับลดคาดการณ์ราคาทองคำในระยะเวลา 3 เดือนลงมาอยู่ที่ระดับ 1,615 ดอลลาร์/ออนซ์ จากระดับ 1,825 ดอลลาร์/ออนซ์

ส่วนในระยะเวลา 6 เดือนนั้น โกลด์แมน แซคส์ ยังได้ปรับลดคาดการณ์ราคาทองคำลงมาอยู่ที่ระดับ 1,600 ดอลลาร์/ออนซ์ จากระดับ 1,805 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับลดคาดการณ์ราคาทองคำในระยะเวลา 12 เดือนลงมาอยู่ที่ระดับ 1,550 ดอลลาร์/ออนซ์ จากระดับ 1,800 ดอลลาร์/ออนซ์

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกังวลว่า การร่วงลงอย่างหนักของราคาทองคำกำลังสะท้อนถึงความรู้สึกไม่มั่นคงของนักลงทุนที่มีต่ออนาคตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยุโรปที่กำลังดิ้นหลังชนฝากับปัญหาหนี้สาธารณะ และสหรัฐที่กำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อท่วมระบบอันเป็นผลมาจากมาตรการ QE

ใครจะคาดคิดว่า เศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากยุคที่ทองคำเคยทำหน้าที่เป็นมาตรฐานของเงินตราในอดีต มาสู่ยุคปัจจุบันที่ทองคำเป็นสินทรัพย์เสี่ยงที่ทำหน้าที่บางส่วนเกือบจะเท่ากับเงินตรา ทั้งนี้ แม้ทองคำจะมีความน่าเชื่อถือกว่าเงินตรากระดาษที่กำลังท่วมโลก การหวนกลับคืนของระบบมาตรฐานทองคำยังเป็นเรื่องที่ไกลเกินความจริง

การสิ้นสุดของระบบมาตรฐานทองคำทำให้เงินกระดาษกลายเป็นมาตรฐานของการเงินโลกยุคปัจจุบันนั้น ไม่ใช่เพราะเงินดอลลาร์ทำหน้าที่ได้ดีกว่าทองคำ แต่เป็นเพราะความพยายามที่จะทำให้สกุลดอลลาร์มีความน่าเชื่อเท่ากับทองคำ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้วยิ่งไปไม่รอด

เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่า วิกฤตราคาทองคำที่ทำให้ภาวะแปรปรวนลุกลามเข้าไปในตลาดการเงินทั่วโลกในขณะนี้ จะกลายเป็นวงจรวิกฤตระลอกใหม่ที่ซึมลึกยาวนานไปจนถึงเมื่อใด และทำอย่างไรจึงจะหาทางออกที่เหมาะสมได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ