ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (8 ต.ค.) โดยในระหว่างวันราคาดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี หลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบและเบนซินที่พุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงส่งผลให้ความต้องการพลังงานลดน้อยลงด้วย สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 1.11 ดอลลาร์ ปิดที่ 88.95 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปีที่ 86.05 ดอลลาร์ ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 30 เซนต์ ปิดที่ 84.36 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปีที่ 81 ดอลลาร์ ส่วนสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 1.12 เซนต์ ปิดที่ 2.4945 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 3.3 เซนต์ ปิดที่ 2.0298 ดอลลาร์/แกลลอน ทอม เบนซ์ นักวิเคราะห์จากบริษัท BNP Paribas Commodity Futures ในกรุงนิวยอร์กกล่าวว่า นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบหลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่า น้ำมันดิบสำรองในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 3 ต.ค.พุ่งขึ้น 8.1 ล้านบาร์เรล หรือ 2.8% แตะระดับ 302.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลล์ธอมสัน ไฟแนนเชียลคาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 2.3 ล้านบาร์เรล ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 7.2 ล้านบาร์เรล หรือ 4% แตะระดับ 186.8 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.0 ล้านบาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันกลั่นซึ่งรวมถึงน้ำมันฮีทติ้งออยล์และเชื้อเพลิงดีเซล ลดลง 500,000 บาร์เรล แตะระดับ 122.6 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่คาดว่าจะลดลง 700,000 บาร์เรล "ข้อมูลของกระทรวงพลังงานยังระบุด้วยว่า ความต้องการน้ำมันเบนซินในรอบ 4 สัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 3 ต.ค. อยู่ที่ 8.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าปีที่แล้วอยู่ประมาณ 5.3% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทำให้ความต้องการพลังงานลดน้อยลงด้วย เศรษฐกิจที่ส่อเค้าถดถอยทั่วโลกเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนจำนวนมากวิตกกังวลและชะลอการลงทุนในตลาดน้ำมัน" เบนซ์กล่าว นักลงทุนจับตาดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มโอเปค หลังจากนายกาโล่ ชีริโบกา รองประธานของกลุ่มโอเปคออกมาส่งสัญญาณว่าอาจมีการลดเพดานการผลิตน้ำมัน โดยระบุว่า "ความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลกที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน และการใช้น้ำมันในสหรัฐ ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้กลุ่มโอเปคต้องปรับเปลี่ยนการผลิตน้ำมันให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โอเปคจะเริ่มประเมินสถานการณ์ในตลาดยุโรป ซึ่งหากการใช้น้ำมันยังลดลงอีก ก็มีแนวโน้มที่กลุ่มโอเปคจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการผลิตน้ำมัน"