ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: น้ำมันดิบปิดร่วง 96 เซนต์ หลังสต็อกน้ำมันดิบพุ่งเกินคาด

ข่าวต่างประเทศ Thursday April 8, 2010 06:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (7 เม.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบและน้ำมันกลั่นที่พุ่งขึ้นเกินคาดในรอบสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่าดีมานด์พลังงานในสหรัฐยังคงหดตัวแม้มีข้อมูลระบุว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนฟื้นตัวขึ้นแล้วก็ตาม

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ค.ร่วงลง 96 เซนต์ หรือ 1.11% ปิดตลาดที่ 85.88 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 85.75-87 ดอลลาร์

ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนพ.ค.ลดลง 2.44 เซนต์ ปิดที่ 2.2439 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 3.36 เซนต์ ปิดที่ 2.3147 ดอลลาร์/แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ค.ร่วงลง 56 เซนต์ หรือ 0.65% ปิดที่ 85.59 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัว ในช่วง 85.31-86.47 ดอลลาร์

นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบหลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 2 เม.ย.พุ่งขึ้น 2.0 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 356.2 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.8 ล้านบาร์เรล

ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงเชื้อเพลิงดีเซลและฮีทติ้งออยล์ เพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรล แตะที่ 145.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.2 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินร่วงลง 2.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 222.4 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะขยับลงเพียง 800,000 บาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 1.9% แตะที่ 84.5%

นักวิเคราะห์จากบริษัทชอร์ค แอสโซซิเอทส์ กล่าวว่า อัตราว่างงานในสหรัฐที่ยังอยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภครัดเข็มขัดและเลือกที่จะใช้จ่ายแต่ในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ความต้องการเชื้อเพลิงลดน้อยลงด้วย โดยอัตราว่างงานเดือนมี.ค.อยู่ที่ระดับ 9.7% ซึ่งยืนอยู่ระดับดังกล่าวมาเป็นเดือนที่สาม

การแสดงความคิดเห็นของนักวิเคราะห์สอดคล้องกับรายงานของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ระบุว่า อัตราการเติบโตของรายได้ในสหรัฐยังคงซบเซา และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ตลาดสินเชื่อยังคงตึงตัว ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม แม้ตัวเลขจ้างงานในเดือนดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้น 162,000 อัตราก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ