ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดบวก 41.55 จุด หลังปรับตัวลงสองวันติดต่อกัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday June 14, 2014 07:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (13 มิ.ย.) หลังจากที่ปรับตัวลดลงมาสองวันติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ตลอดสัปดาห์ ดัชนีหุ้นนิวยอร์กปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์แรกในรอบสี่สัปดาห์ เนื่องจากสถานการณ์ในอิรักที่ทวีความรุนแรงขึ้นได้เพิ่มความวิตกให้กับนักลงทุน จากที่กังวลอยู่แล้วเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าหุ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 41.55 จุด หรือ 0.25% ปิดที่ 16,775.74 จุด ดัชนี S&P 500 บวก 6.05 จุด หรือ 0.31% ปิดที่ 1,936.16 จุด ดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 13.02 จุด หรือ 0.30% ปิดที่ 4,310.65 จุด

สำหรับตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 0.9% ดัชนี S&P 500 ลดลง 0.7% และ Nasdaq ลบ 0.2%

หุ้นสหรัฐสามารถพยุงตัวปิดในแดนบวกได้สำเร็จ หลังจากเคลื่อนไหวอย่างผันผวนในระหว่างวัน ท่ามกลางสถานการณ์ไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐ กล่าวในวันศุกร์ว่า "เราจะไม่ส่งทหารสหรัฐกลับไปสู้รบในอิรัก" แต่จะพิจารณาทางเลือกอื่นแทน พร้อมกับเสริมว่า ที่สุดแล้ว การแก้ปัญหาขึ้นอยู่กับชาวอิรักเอง

ทั้งนี้ กลุ่มติดอาวุธได้เข้ายึดครองเมืองเคอร์คุก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำมันทางตอนเหนือของอิรัก และได้ระงับการซ่อมท่อส่งน้ำมันหลักจากแหล่งน้ำมันในเคอร์คุกไปยังตุรกี ซึ่งอาจส่งผลต่อผลผลิตน้ำมันของประเทศ

ความขัดแย้งในอิรักได้เพิ่มความวิตกกังวลที่มีอยู่แล้วของนักลงทุน ซึ่งรวมถึงการที่ดัชนีหุ้นนิวยอร์กเดินหน้าขึ้นทำสถิติสูงสุดระดับใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าในปีนี้ ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการตีราคาหุ้น นอกจากนี้ ตลาดเป็นห่วงว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยนักลงทุนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ซบเซา ภายหลังมีการเปิดเผยยอดค้าปลีกที่น่าผิดหวังเมื่อวันพฤหัสบดี และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงในวันศุกร์

อย่างไรก็ดี นักลงทุนชะลอการขายหุ้นสหรัฐในวันศุกร์ หลังดัชนีหุ้นหลักร่วงลงในช่วงสองวันที่ผ่าน จากที่ปรับตัวขึ้นทำสถิติปิดสูงสุดครั้งใหม่เมื่อวันอังคาร โดยตั้งแต่ต้นปี 2557 ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นแล้ว 1.2% ขณะที่ S&P 500 เพิ่มขึ้น 4.8% นับตั้งแต่ต้นปี

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐช่วงต้นเดือนมิ.ย.จากรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งปรับตัวลดลงสู่ระดับ 81.2 จาก 81.9 ในช่วงปลายเดือนพ.ค. ต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ที่ระดับ 83.0

ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลง 0.2% ในเดือนพ.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนเม.ย. และ 0.5% ในเดือนมี.ค. ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าดัชนี PPI เดือนพ.ค.จะขยับขึ้น

"หลังปรับตัวเพิ่มขึ้นมากมาสองเดือน การลดลงเพียงเล็กน้อยของดัชนี PPI จึงไม่ได้บ่งชี้ถึงความอ่อนแอด้านราคาในเศรษฐกิจ" เจย์ มอร์ล็อก นักเศรษฐศาสตร์จากเอฟทีเอ็น ไฟแนนเชียล กล่าว

"ความกังวลของผู้ผลิตในช่วงเวลาต่อจากนี้คือ ต้นทุนน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงในตะวันออกกลาง" เขากล่าวเพิ่มเติม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ