หลังจากตลาดเปืดทำการไม่นาน ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์บวก 43.83 จุด หรือ 0.25% สู่ระดับ 17,545.48 จุด อย่างไรก็ดี ณ เวลา 23.45 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลง 0.89% สู่ระดับ 17,343.12
สถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) เปิดเผยว่า ภาคบริการของสหรัฐมีการขยายตัวต่ำกว่าคาดในเดือนธ.ค.2014 โดยแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่ดัชนีการจ้างงาน, คำสั่งซื้อ และกิจกรรมทางธุรกิจต่างปรับตัวลง
ISM ระบุว่า ดัชนีภาคบริการร่วงลงสู่ 56.2 ในเดือนธ.ค. แต่ยังสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัว แม้ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 58.0 ขณะที่เดือนพ.ย. อยู่ที่ 59.3
บริษัทมาร์กิตเปิดเผยในวันนี้ว่า ภาคบริการของสหรัฐมีการขยายตัวในเดือนธ.ค.2014 ในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ของปีดังกล่าว ขณะที่การเติบโตในธุรกิจใหม่และการจ้างงานปรับตัวลดลง
มาร์กิตระบุว่า ตัวเลขขั้นสุดท้ายของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในภาคบริการอยู่ที่ระดับ 53.3 ในเดือนธ.ค. แต่ยังสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัว ขณะที่ตัวเลขเบื้องต้นอยู่ที่ 53.6 และเดือนพ.ย.อยู่ที่ 56.2
ดัชนี PMI ภาคบริการแตะระดับสูงสุดที่ 61 ในเดือนมิ.ย.2014
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า คำสั่งซื้อใหม่สำหรับภาคการผลิตของสหรัฐร่วงลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเดือนพ.ย.2014 ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของกิจกรรมภาคการผลิต และการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม
กระทรวงพาณิชย์แถลงว่า คำสั่งซื้อใหม่สำหรับสินค้าในภาคการผลิตลดลง 0.7% ในเดือนพ.ย. หลังจากร่วงลง 0.7% เช่นกันในเดือนต.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าลดลง 0.5%
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่องในวันนี้ จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันจำนวนมากจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค)
ณ เวลา 19.33 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) เดือนก.พ.ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ร่วงลง 83 เซนต์ หรือ 1.66% แตะ 49.25 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่ประชุมโอเปคมีมติคงเพดานการผลิตน้ำมันเอาไว้ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2014 และยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะปรับลดปริมาณการผลิตเพื่อสกัดการร่วงลงของราคา ขณะที่อิรักเตรียมระบายผลผลิตน้ำมันเข้าสู่ตลาด
ขณะเดียวกัน สต็อกน้ำมันดิบที่สูงขึ้นในสหรัฐยังส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานพลังงานที่สูงขึ้น