ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดบวก 17.95 จุด รับราคาน้ำมันฟื้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 8, 2016 06:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (7 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ดีดตัวขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 2 และการแสดงมุมมองเศรษฐกิจในด้านบวกของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน เนื่องจากหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มธุรกิจเพื่อสุขภาพร่วงลงอย่างหนัก

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 17,938.28 จุด เพิ่มขึ้น 17.95 จุด หรือ +0.10% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,961.75 จุด ลดลง 6.96 จุด หรือ -0.14% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,112.13 จุด เพิ่มขึ้น 2.72 จุด หรือ +0.13%

ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 2 โดยเมื่อคืนนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI พุ่งขึ้นไปยืนเหนือระดับ 50 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากเหตุการณ์โจมตีบ่อน้ำมันในไนจีเรียส่งผลให้การผลิตน้ำมันภายในประเทศปรับตัวลง

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนหลังจากนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดได้แสดงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ แม้ตัวเลขการจ้างงานเดือนพ.ค.ของสหรัฐออกมาต่ำกว่าการคาดการณ์ ขณะเดียวกันประธานเฟดไม่ได้ระบุกำหนดเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และกล่าวว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดจะยังคงไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้

ทั้งนี้ การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันช่วยหนุนหุ้นกลุ่มพลังงานดีดตัวขึ้นด้วย โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล และหุ้นเชฟรอน ต่างก็ปรับตัวขึ้นอย่างน้อย 1.5%

หุ้นกลุ่มสายการบินปรับตัวขึ้น หลังจากสายการบินเจ็ทบลูประกาศเพิ่มค่าธรรมเนียมการบินภายในประเทศ ซึ่งกระตุ้นให้สายการบินอื่นๆปรับขึ้นค่าธรรมเนียมตาม

หุ้นกลุ่มธุรกิจสร้างบ้านดีดตัวขึ้นเช่นกัน โดยหุ้นพัลท์ กรุ๊ป พุ่งขึ้น 4.1% หลังจากพัลท์ กรุ๊ป รายงานว่า บริษัทอิลเลียต เมเนจเมนท์ ได้เข้าซื้อหุ้นในพัลท์ กรุ๊ป ขณะที่หุ้นเลนนาร์ คอร์ป และโทลล์ บราเธอร์ส

อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มธุรกิจเพื่อสุขภาพและหุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลง ซึ่งส่งผลให้ภาวะการซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน โดยหุ้นโกลด์แมน แซคส์ ร่วงลงหนักสุดในบรรดาหุ้นที่คำนวณในดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ หุ้นไบโอเจน ดิ่งลง 13% หลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่น้อยกว่าคาดการณ์

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานนอกภาคเกษตร ปรับตัวลงในไตรมาส 1 สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ส่วนต้นทุนแรงงานต่อหน่วย ซึ่งเป็นมาตรวัดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สำคัญ เพิ่มขึ้น 4.5% ในไตรมาส 1

นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, สต็อกสินค้าคงคลังภาคส่งเดือนเม.ย. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนมิ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ