ดาวโจนส์ตกหนักกว่า 600 จุด ตื่นบอนด์ยีลด์พุ่งสูงสุด 4 ปีหนุนเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 9, 2018 01:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ยังคงดิ่งลงต่อเนื่องในวันนี้ โดยล่าสุดทรุดตัวลงกว่า 600 จุด จากความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดีดตัวใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง

ณ เวลา 01.08 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 24,265.38 จุด ลดลง 627.97 จุด หรือ 2.52%

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีดีดตัวต่อเนื่องในวันนี้ ใกล้แตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี ขานรับการเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่ลดลงอย่างมาก

นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ ก็เป็นอีกปัจจัยที่หนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 2.878% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.164%

นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยูโรโซนยังดีดตัวแตะระดับสูงสุดในรอบหลายปีในวันนี้เช่นกัน จากปัจจัยพรรคการเมืองเยอรมนีสามารถบรรลุข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาล และจากการที่ผู้นำในวุฒิสภาสหรัฐบรรลุข้อตกลงสนับสนุนร่างกฎหมายงบประมาณ ก่อนที่วุฒิสภาเต็มคณะจะลงมติในวันนี้ ซึ่งจะบ่งชี้ถึงการใช้จ่ายงบประมาณที่มากขึ้นทั้งในยุโรปและสหรัฐ

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยูโรโซนประเภทอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้น 0.03-0.07% ในวันนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีประเภทอายุ 10 ปี พุ่งแตะระดับ 0.808% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2558 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษประเภทอายุ 2 ปีดีดตัวแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2558

ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 9-0 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันนี้ ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์หลังการประชุม ซึ่งเป็นครั้งแรกของปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ของ BoE ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและถี่กว่าที่คาดไว้ หากเศรษฐกิจปรับตัวสอดคล้องกับการคาดการณ์ของ BoE เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายของ BoE อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ แถลงการณ์ของ BoE เป็นการส่งสัญญาณให้ตลาดการเงินเตรียมพร้อมรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้า

ขณะเดียวกัน ตลาดจับตาถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดหลายคนในวันนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และทิศทางอัตราดอกเบี้ย โดยเจ้าหน้าที่เฟดที่จะกล่าวสุนทรพจน์ในวันนี้ ได้แก่ นายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานเฟด สาขาดัลลัส, นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟด สาขาฟิลาเดลเฟีย, นายนีล แคชแครี ประธานเฟด สาขามินเนอาโพลิส และนางเอสเธอร์ จอร์จ ประธานเฟด สาขาแคนซัส ซิตี้

นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟด สาขาฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่า เขาเปิดกว้างต่อการที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.

นอกจากนี้ นายฮาร์เกอร์ยังระบุว่า เขาคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ แต่เฟดก็อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 โดยขึ้นอยู่กับว่าอัตราเงินเฟ้อได้ดีดตัวขึ้นต่อไปหรือไม่ และสภาวะการเงินยังคงผ่อนคลายหรือไม่

ทางด้านนายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าตามแผนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตลาดหุ้นจะประสบภาวะผันผวนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

ด้านนายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานเฟด สาขาดัลลัส กล่าวในวันนี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจมีการขยายตัวแตะจุดสูงสุดในปีนี้ ก่อนที่จะชะลอตัวลงในช่วง 2 ปีข้างหน้า

นายแคปแลนระบุว่า ปีนี้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฟดดัลลัสคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.50-2.75%

นายแคปแลนยังคาดการณ์ว่า อัตราการว่างงานจะลดลงต่ำกว่า 4% ในปีนี้ ขณะที่การจ้างงานอยู่ในภาวะใกล้เต็มศักยภาพ

นอกจากนี้ นายแคปแลนยังกล่าวว่า เฟดควรถอนตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เนื่องจากตลาดแรงงานที่ตึงตัวได้เพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ

นายแคปแลนกล่าวว่า การที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีททรุดตัวลงในระยะนี้ ถือเป็นการปรับฐานที่ดี หลังจากที่พุ่งขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา และเขาคาดว่าการดิ่งลงของตลาดหุ้นจะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจแต่อย่างใด

บริษัททวิตเตอร์ อิงค์ เปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งในไตรมาส 4 โดยระบุว่า บริษัทสามารถมีกำไรสุทธิเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ขณะที่มีผลประกอบการสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ทั้งนี้ ทวิตเตอร์เปิดเผยว่า บริษัทมีกำไร 19 เซนต์/หุ้น เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 14 เซนต์/หุ้น

นอกจากนี้ บริษัทระบุรายได้ที่ระดับ 732 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 686 ล้านดอลลาร์

ราคาหุ้นของทวิตเตอร์พุ่งขึ้นอย่างมากในการซื้อขายวันนี้ ขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่ง

ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาวุฒิสภาสหรัฐ ซึ่งจะลงมติต่อร่างงบประมาณในวันนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานรัฐบาล (ชัตดาวน์) ที่อาจเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทวีตข้อความในวันนี้ ขานรับผู้นำวุฒิสภาที่สามารถบรรลุข้อตกลงร่างงบประมาณ ก่อนที่วุฒิสภาเต็มคณะจะลงมติในวันนี้

"ข้อตกลงงบประมาณมีความสำคัญต่อกองทัพของเรา ซึ่งจะช่วยให้ท่านรัฐมนตรีกลาโหมได้งบประมาณที่มีความจำเป็นในการทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่ พรรครีพับลิกันและเดโมแครตจะต้องสนับสนุนกองทัพของเรา และงบประมาณฉบับนี้" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ

ทั้งนี้ นายมิตช์ แมคคอนเนล จากพรรครีพับลิกัน ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา และนายชัค ชูเมอร์ จากพรรคเดโมแครต ผู้นำเสียงข้างน้อย ต่างก็ให้การสนับสนุนงบประมาณดังกล่าว ก่อนที่วุฒิสภาจะลงมติในวันนี้

วุฒิสภาสหรัฐเตรียมลงมติต่อร่างกฎหมายงบประมาณในวันนี้ ก่อนที่งบประมาณชั่วคราวฉบับปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในวันนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการชัตดาวน์ที่อาจเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้

ร่างกฎหมายงบประมาณที่วุฒิสภาจะพิจารณาในวันนี้ จะมีการเพิ่มงบประมาณขึ้นอีกราว 3 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 2 ปีข้างหน้า โดยกระทรวงกลาโหมจะได้รับ 1.65 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่โครงการต่างๆในประเทศได้รับ 1.31 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมทั้งโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเฮอร์ริเคนในรัฐเท็กซัส, ฟลอริดา และเปอร์โตริโก

หากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายงบประมาณดังกล่าว ก็จะมีการส่งต่อไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้การอนุมัติต่อไป ก่อนที่จะให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามรับรองเป็นกฎหมาย

นายพอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวว่า เขาเชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎรจะมีเสียงสนับสนุนเพียงพอที่จะผ่านร่างกฎหมายงบประมาณ

"ผมคิดว่าเราจะมีเสียงสนับสนุนเพียงพอ ผมรู้สึกดี แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับพรรคเดโมแครต เพราะนี่เป็นร่างกฎหมายที่มาจากทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้งสองพรรค" นายไรอันกล่าว

อย่างไรก็ดี หากสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับร่างกฎหมายงบประมาณภายในเวลาเที่ยงคืนของวันนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือเวลาเที่ยงของวันพรุ่งนี้ตามเวลาไทย สหรัฐก็จะเผชิญภาวะชัตดาวน์อีกครั้ง หลังจากที่เกิดการชัตดาวน์เป็นเวลา 3 วันในเดือนที่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ