ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดพุ่ง 240.92 จุด ขานรับคลายวิตกสงครามการค้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 6, 2018 06:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดแดนบวกเป็นวันที่สามติดต่อกันในวันพฤหัสบดี (5 เม.ย.) จากการที่นักลงทุนมีมุมมองที่เป็นบวกว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะไม่เกิดขึ้น หลังทั้งสองฝ่ายยอมอ่อนท่าที ส่งสัญญาณพร้อมเปิดประตูเจรจา

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,505.22 จุด พุ่งขึ้น 240.92 จุด หรือ +0.99% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,662.84 จุด เพิ่มขึ้น 18.15 จุด หรือ +0.69% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,076.55 จุด เพิ่มขึ้น 34.44 จุด หรือ +0.49%

ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสามวันเป็นครั้งแรกในรอบหลายสัปดาห์ โดยภาวะการซื้อขายยังคงได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากที่นายแลร์รี่ คุดโลว์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า ขณะนี้สหรัฐยังไม่มีการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีน และจีนก็ยังไม่ได้บังคับใช้มาตรการดังกล่าวกับสหรัฐเช่นกัน โดยทั้งสองประเทศมีเวลาอย่างน้อยสองเดือนก่อนที่จะตัดสินใจบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้า

ทางด้านนายชุย เถียนไค เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐ กล่าวว่า ทางเลือกแรกของจีนควรจะเป็นการหันหน้าเจรจาการค้ากับสหรัฐ โดยจีนพร้อมที่จะเจรจาและปรึกษาหารือกับสหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวทางด้านเศรษฐกิจและการเงินวานนี้ นายราฟาเอล บอสติค ประธานเฟด สาขาแอตแลนตา กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐควรขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับที่มีความเป็นกลาง (neutral) จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงติดตามรอดูผลการใช้นโยบายดังกล่าว

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการรายงานในวันพฤหัสบดี กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 24,000 ราย สู่ระดับ 242,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 225,000 ราย

ตัวเลขผู้ที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกยังคงอยู่ต่ำกว่า 300,000 ราย เป็นสัปดาห์ที่ 161 ติดต่อกัน ซึ่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2513

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 9 ปีในเดือนก.พ. โดยเพิ่มขึ้น 1.6% สู่ระดับ 5.76 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2551 โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.68 หมื่นล้านดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นจากระดับ 5.67 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนม.ค.

ทั้งนี้ สหรัฐขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 6 เดือนในเดือนก.พ. โดยขาดดุลการค้าภาคสินค้าสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2551 ขณะที่เกินดุลการค้าภาคบริการต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2555

อย่างไรก็ดี สหรัฐขาดดุลการค้าต่อจีนลดลง 18.6% สู่ระดับ 2.93 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. โดยการนำเข้าจากจีนลดลง 14.7% ขณะที่การส่งออกไปยังจีนทรงตัว

ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจที่ตลาดจับตาในวันนี้ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่มีกำหนดเปิดเผยในเวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย โดยผลการสำรวจนักวิเคราะห์ระบุว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 185,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 4.0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2543 หรือต่ำสุดในรอบกว่า 17 ปี จากระดับ 4.1% ในเดือนก.พ.

เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือนก.พ. โดยพุ่งขึ้น 313,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 1 ปีครึ่ง ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี

นอกจากนี้ นักลงทุนเตรียมรอดูการเปิดเผยผลประกอบการประจำไตรมาสแรกของปี 2561 ซึ่งบริษัทจดทะเบียนจะเริ่มทยอยรายงานกันในสัปดาห์หน้า ท่ามกลางมุมมองที่เป็นบวกว่าผลประกอบการของหลายบริษัทน่าจะออกมาดี

หุ้นจีเอ็นซี โฮลดิงส์ ผู้จำหน่ายวิตามินรายใหญ่ บวก 2.79% หลังบริษัทเผยว่าจะขยายธุรกิจไปยังออสเตรเลียด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทสัญชาติออสซี่

หุ้นมอนซาโต้พุ่ง 1.58% หลังบริษัทด้านเกษตรเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรรายใหญ่แสดงความเชื่อมั่นเรื่องการควบรวมกิจการกับไบเออร์ ยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี โดยหุ้นไบเออร์พุ่ง 3%

อย่างไรก็ตาม หุ้นไมครอน เทคโนโลยี ร่วง 6.7% หุ้นเอ็นวิเดียลดลง 2.15% หุ้นพีเอชแอลเอ็กซ์ เซมิคอนดักเตอร์ ลบ 1.04% โดยการร่วงลงของหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิป ซึ่งสร้างแรงกดดันให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีโดยรวมนั้น ได้ส่งผลให้ดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้นอย่างจำกัด

ด้านหุ้นบริษัทสัญชาติจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐต่างปรับตัวสูงขึ้นเกือบทั้งหมด โดยหุ้นใหญ่ 8 ใน 10 ตัวปิดบวก ไม่ว่าจะเป็น JD.com ที่พุ่งขึ้น 1.9% หุ้นไป่ตู้ บวก 0.57% หุ้นอาลีบาบา บวก 0.29%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ