ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดร่วง 174.07 จุด หลังเฟดส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย,วิตกข้อพิพาทการค้าสหรัฐ-จีน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 3, 2018 06:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (2 พ.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมเมื่อวานนี้ว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐกำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ซึ่งสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากรายงานที่ว่า รัฐบาลสหรัฐอาจใช้มาตรการควบคุมบริษัทของจีนในการขายอุปกรณ์ด้านการสื่อสารในสหรัฐ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,924.98 จุด ร่วงลง 174.07 จุด หรือ -0.72% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,635.67 จุด ลดลง 19.13 จุด หรือ -0.72% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,100.90 จุด ลดลง 29.81 จุด หรือ -0.42%

ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ที่ระดับ 1.50-1.75% ในการประชุมเมื่อวานนี้ แต่ได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. โดยระบุว่า อัตราเงินเฟ้อกำลังเข้าใกล้ระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายของเฟด และการปรับตัวของเศรษฐกิจได้สนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

นอกจากนี้ ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับแรงกดดันจากรายงานข่าวที่ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพิจารณาการออกคำสั่งให้ใช้มาตรการควบคุมบริษัทของจีนในการจำหน่ายอุปกรณ์ด้านการสื่อสารในสหรัฐ โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนเริ่มกลับมาวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐได้ประกาศห้ามไม่ให้บริษัทของสหรัฐขายสินค้าต่างๆให้กับบริษัท ZTE ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ด้านการสื่อสารของจีน เป็นเวลา 7 ปี เพื่อตอบโต้ ZTE ที่ส่งมอบสินค้าให้กับอิหร่าน ซึ่งถือเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตร นอกจากนี้ สหรัฐยังได้เข้าตรวจสอบบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ เพื่อหาหลักฐานว่า หัวเว่ยได้ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรที่ห้ามไม่ให้มีการขายสินค้าให้กับอิหร่านหรือไม่

นักลงทุนจับตาการเจรจาการค้าระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนและสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลัง นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) และนายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์ จะเข้าร่วมประชุมเป็นเวลา 2 วันกับเจ้าหน้าที่ของจีนที่กรุงปักกิ่ง โดยนายมนูชินกล่าวว่า สหรัฐจะหยิบยกประเด็นที่สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีน รวมทั้งประเด็นสิทธิทางปัญญา ขึ้นมาพูดคุยในระหว่างการเจรจาครั้งนี้

หุ้น Snap ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Snapchat ดิ่งลงอย่างหนักถึง 21.9% หลังจากทางบริษัทเปิดเผยตัวเลขขาดทุน 17 เซนต์/หุ้นในไตรมาส 1 พร้อมระบุว่า บริษัทมีจำนวนผู้ใช้บริการ 191 ล้านคน ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 194.2 ล้านคน

หุ้นบริษัทยัม แบรนด์ส อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของพิซซ่า ฮัท, เคนตั๊กกี ฟรายชิกเก้น (KFC) และทาโก เบล ร่วงลง 7.4% หลังจากบริษัทเปิดเผยยอดขายในไตรมาส 1 เพิ่มขึ้นเพียง 1% ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะพุ่งขึ้น 1.9%

หุ้น PayPal ดิ่งลง 4.1% หลังจากมีข่าวว่า อเมซอน กำลังยื่นข้อเสนอให้บรรดาร้านค้าปลีกหันมาใช้ระบบการจ่ายเงินของอเมซอน

หุ้น IAC ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Match ผู้ให้บริการจับคู่ออนไลน์ ร่วงลงกว่า 2% หลังจากนายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า เฟซบุ๊กเตรียมให้บริการหาคู่สำหรับผู้ใช้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ส่วนหุ้นแอปเปิล พุ่งขึ้น 4.4% หลังจากแอปเปิลเปิดเผยว่า รายได้ในไตรมาส 2 ในปีงบการเงินของบริษัท เพิ่มขึ้น 16% แตะระดับ 6.11 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขยายตัวที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 2 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 6.09 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนกำไรอยู่ที่ระดับ 2.73 ดอลลาร์/หุ้น สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.64 ดอลลาร์/หุ้น

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 204,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง แต่ต่ำกว่าระดับ 228,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค.

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดุลการค้าเดือนมี.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนเม.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนเม.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), คำสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมี.ค. และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ