ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดบวก 75.12 จุด นักลงทุนเมินสหรัฐขัดแย้งชาติ G7

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday June 9, 2018 06:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่สามเมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) ขณะที่นักลงทุนเมินความขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐกับชาติพันธมิตร ในการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 7 ชาติ หรือ G7 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศแคนาดาในวันศุกร์และวันเสาร์นี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,316.53 จุด เพิ่มขึ้น 75.12 จุด หรือ +0.30% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,779.03 จุด เพิ่มขึ้น 8.66 จุด หรือ +0.31% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,645.51 จุด เพิ่มขึ้น 10.44 จุด, +0.14%

สำหรับทั้งสัปดาห์ ดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 2.8%, S&P เพิ่มขึ้น 1.6% และ Nasdaq เพิ่มขึ้น 1.2%

ตลาดหุ้นทั่วโลกจับตาการประชุม G7 ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ที่คาดว่าสหรัฐจะถูกสมาชิกรายอื่นโจมตีเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมในสัปดาห์ที่แล้ว อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่านักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐจะไม่กังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับชาติพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นแคนาดาและสหภาพยุโรป มากเท่าไรนัก

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความโจมตีผู้นำแคนาดาและฝรั่งเศส ก่อนการประชุมสุดยอด G7 จะเปิดฉาก โดยกล่าวหาทั้งสองประเทศว่าได้เรียกเก็บภาษีจำนวนมากต่อสินค้าสหรัฐ รวมทั้งตั้งกำแพงการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางการเงิน

"กรุณาบอกท่านนายกฯทรูโด และท่านประธานาธิบดีมาครองว่า พวกเขาได้เรียกเก็บภาษีจำนวนมากต่อสินค้าสหรัฐ และตั้งกำแพงการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางการเงิน โดยสหภาพยุโรปเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากถึง 1.51 แสนล้านดอลลาร์ และแคนาดาก็ได้ออกมาตรการกีดกันเกษตรกรของเรา โดยเรียกเก็บภาษีต่อผลิตภัณฑ์นมสูงถึง 300% ผมหวังว่าจะพบกับพวกเขาในการประชุม G7" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ

ทางด้านนายเอมมานูเอล มาครอง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ทวีตข้อความขู่ที่จะออกแถลงการณ์ G7 โดยมีการลงนามเพียง 6 ชาติ ยกเว้นสหรัฐ

"ประธานาธิบดีสหรัฐอาจจะไม่กังวลที่จะถูกโดดเดี่ยว ซึ่งเราก็ไม่กังวลเหมือนกัน หากจำเป็นต้องมีการลงนามข้อตกลงเพียง 6 ประเทศ เพราะ 6 ประเทศนี้เป็นตัวแทนถึงคุณค่า เป็นตัวแทนถึงเศรษฐกิจตลาดซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนาน และขณะนี้กำลังเป็นพลังที่สำคัญในระดับระหว่างประเทศ" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ

ทั้งนี้ สมาชิก G7 ประกอบด้วยแคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐ

ขณะเดียวกัน รายงานข่าวระบุว่า ประธานาธิบดีทรัมป์วางแผนที่จะออกจากการประชุม G7 ก่อนกำหนด เพื่อล่วงหน้าไปยังสิงคโปร์ เตรียมพร้อมสำหรับการประชุมกับนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือในวันอังคาร

ในส่วนของข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งขยับขึ้น 0.1% ในเดือนเม.ย. โดยสูงกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นซึ่งระบุว่าทรงตัวในเดือนเม.ย. หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนมี.ค.

เมื่อเทียบรายปี สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งดีดตัวขึ้น 5.8% ในเดือนเม.ย.

ขณะเดียวกัน ยอดขายในภาคค้าส่งพุ่งขึ้น 0.8% ในเดือนเม.ย. หลังจากดีดตัวขึ้น 0.4% ในเดือนมี.ค.

ยอดขายดังกล่าวบ่งชี้ว่า ผู้ค้าส่งจะใช้เวลา 1.28 เดือนในการจำหน่ายสินค้าทั้งหมดในสต็อก โดยลดลงจากระดับ 1.29 เดือนในเดือนมี.ค.

ด้านความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจ หุ้นดอยซ์แบงก์ร่วง 2.3% ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก หลังมีรายงานข่าวว่าธนาคารรายใหญ่ของเยอรมนีกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะควบรวมกิจการกับคอมเมิร์ซแบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารคู่แข่งในประเทศ

หุ้นเจนเนอรัล อิเลคทริค บวก 1.1% หลังบริษัทเผยว่าจะยังคงจ่ายเงินปันผลรายไตรมาสเท่าเดิม ซึ่งช่วยคลายความกังวลก่อนหน้านี้ของนักลงทุนที่ว่าบริษัทอาจลดหรืองดจ่ายปันผลเหมือนไตรมาสที่ผ่านมา

หุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวขึ้น โดยพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล พุ่ง 1.9% หุ้นโคคา-โคลา บวก 1.2%

สำหรับในสัปดาห์หน้ามีเหตุการณ์สำคัญที่นักลงทุนจับตาหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 มิ.ย.ที่สิงคโปร์, การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 12-13 มิ.ย., การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 14 มิ.ย. รวมไปถึงการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 14-15 มิ.ย.

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมดังกล่าว หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง โดยจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ ขณะที่คาดว่า ECB จะส่งสัญญาณปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จากระดับ 3 หมื่นล้านยูโร/เดือน ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดในเดือนก.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ