ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดพุ่ง รับข้อมูล PMI ยูโรโซน, ผลประชุมโอเปก

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday June 23, 2018 06:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นยุโรปปิดพุ่งขึ้นแข็งแกร่งเมื่อคืนนี้ (22 มิ.ย.) หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมในภาคธุรกิจของยูโรโซนนั้นเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นจากที่ชะลอตัวมาหลายเดือน ประกอบกับได้แรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน ภายหลังราคาน้ำมันดิบพุ่งรับผลประชุมโอเปกที่มีมติเพิ่มกำลังการผลิต แต่ไม่ระบุปริมาณชัดเจน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าน่าจะเพิ่มขึ้นไม่มากอย่างที่ตลาดกังวลก่อนหน้านี้

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับตัวขึ้น 4.16 จุด หรือ 1.09% ปิดที่ 385.01 จุด อย่างไรก็ตาม ทั้งสัปดาห์ ดัชนีปรับตัวลง 1.1%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,387.38 จุด เพิ่มขึ้น 71.37 จุด หรือ 1.34% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,579.72 จุด เพิ่มขึ้น 67.81 จุด หรือ 0.54% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,682.27 จุด เพิ่มขึ้น 125.83 จุด หรือ 1.67%

ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นยุโรปได้แรงหนุนหลังจากที่ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้นของยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.8 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 54.1 ในเดือนพ.ค. ซึ่งบ่งชี้ว่า กิจกรรมในภาคธุรกิจของยูโรโซนขยายตัวในอัตราที่เร็วขึ้น และเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนที่ดัชนี PMI รวมปรับตัวขึ้น เพราะได้แรงหนุนจากภาคบริการ โดยดัชนี PMI ภาคบริการยูโรโซน อยู่ที่ 55.0 ในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นจาก 53.8 ในเดือนพ.ค. แม้ว่าดัชนี PMI ภาคการผลิตลดลงมาอยู่ที่ 55.0 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 55.5 ในเดือนพ.ค.ก็ตาม

นอกจากนี้ กิจกรรมในภาคบริการของเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสองประเทศใหญ่สุดในยูโรโซน ก็ออกมาดีกว่าการคาดการณ์ด้วย แม้กิจกรรมในภาคการผลิตจะชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน

ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้นของเยอรมนี เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 54.2 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 53.4 ในเดือนพ.ค. โดยได้รับปัจจัยหนุนจากยอดคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน สำหรับดัชนี PMI ภาคบริการ อยู่ที่ 53.9 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 52.1 ในเดือนพ.ค. ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิต อยู่ที่ 55.9 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือน จากระดับ 56.9 ในเดือนพ.ค.

ขณะเดียวกัน ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้นของฝรั่งเศส อยู่ที่ 55.6 ในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นจาก 54.2 เมื่อเดือนพ.ค. และทำสถิติสูงสุดในรอบ 2 เดือน สำหรับดัชนี PMI ภาคบริการปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.4 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 54.3 ในเดือนพ.ค. ทำสถิติสูงสุดในรอบ 2 เดือน ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตปรับตัวลดลงแตะ 53.1 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 54.4 ในเดือนพ.ค. โดยทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 เดือน

นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายยังเป็นไปอย่างคึกคักจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงานที่ดีดตัวขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้น หลังนักลงทุนรับทราบผลการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ที่กรุงเวียนนา

โอเปกออกแถลงการณ์หลังการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตวานนี้ โดยระบุว่าโอเปกจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน แต่ไม่มีการระบุปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

แถลงการณ์โอเปกระบุว่า "สมาชิกโอเปกได้ให้ความร่วมมือลดกำลังการผลิตน้ำมันแตะระดับ 152% ในเดือนพ.ค. ส่งผลให้ที่ประชุมมีมติในวันนี้ให้ลดตัวเลขความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันสู่ระดับ 100% โดยเริ่มต้นวันที่ 1 ก.ค."

ทางด้านแหล่งข่าวเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ที่ประชุมโอเปกมีมติเพิ่มกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรล/วัน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนก.ค. ซึ่งการปรับเพิ่มกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรล/วัน จะสอดคล้องกับที่ซาอุดิอาระเบียเสนอก่อนหน้านี้ ขณะที่รัสเซียเสนอให้ปรับเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากสมาชิกโอเปกบางประเทศไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน เนื่องจากติดขัดจากปัจจัยในประเทศ ทำให้คาดว่าตัวเลขการเพิ่มการผลิตน้ำมันที่แท้จริงจะอยู่ในระดับเพียง 600,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และการเพิ่มกำลังการผลิตในระดับดังกล่าวจะไม่กดดันราคาน้ำมันให้ดิ่งลง

หุ้นบริษัทน้ำมันรายใหญ่ ทั้งบีพี และรอยัล ดัทช์ เชลล์ ต่างอ่อนตัวลงในช่วงเปิดตลาด แต่กลับมาดีดตัวขึ้นหลังผลประชุมโอเปก โดยหุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ พุ่ง 3.5% และบีพี บวก 3.1% ในตลาดหุ้นลอนดอน

ด้านบริษัทน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ของฝรั่งเศสต่างพุ่งขึ้นเช่นกัน โดยหุ้นโททาล บวก 3.31% หุ้นเทคนิปเอฟเอ็มซี พุ่ง 5.66% ส่วนหุ้นแอร์บัส บวก 2.08% ในตลาดหุ้นปารีส

ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดทางด้านการค้าระหว่างสหรัฐและคู่ค้ารายใหญ่ อย่างจีน และสหภาพยุโรป อย่างใกล้ชิด ท่ามกลางความกังวลว่าความขัดแย้งดังกล่าวจะลุกลามกลายเป็นปัจจัยถ่วงการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่มาตรการตอบโต้ของ EU ในการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้ามูลค่า 3.2 พันล้านดอลลาร์จากสหรัฐ เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันศุกร์นี้

ส่วนหุ้นกลุ่มรถยนต์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และเป็นปัจจัยถ่วงตลาดหุ้นเยอรมันไม่ให้พุ่งแรงเหมือนตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส โดยหุ้นเดมเลอร์ ลดลง 0.3% หุ้นโฟล์คสวาเกน ลบ 0.2% หุ้นบีเอ็มดับเบิลยู ร่วงลง 1.1%

ปัจจัยที่ทำให้หุ้นกลุ่มรถยนต์ปรับตัวลงนั้น มาจากการที่เดมเลอร์ เอจี ได้ปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการในปีงบการเงิน 2561 อีกทั้งแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้า ขณะที่หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ของเยอรมนีได้ยื่นข้อเสนอเพื่อให้สหภาพยุโรป (EU) ยุติมาตรการเรียกเก็บภาษี 10% ต่อรถยนต์นำเข้าจากสหรัฐ

ข้อเสนอดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่นายริชาร์ด เกรเนลล์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำเยอรมนี ได้จัดการเจรจากับผู้บริหารของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของเยอรมนี ซึ่งได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยู โฟล์คสวาเกน และเดมเลอร์ ซึ่งที่ประชุมได้มีแนวคิดในการยุติการตั้งกำแพงภาษีรถยนต์ระหว่างสหรัฐและ EU ขณะที่ล่าสุด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาทวีตข้อความในวันศุกร์ โดยขู่ที่จะเรียกเก็บภาษีจากรถยนต์ที่นำเข้าจากสหภาพยุโรป หาก EU ไม่ยกเลิกการเรียกเก็บภาษีต่อรถยนต์สหรัฐ

"จากการที่สหภาพยุโรปได้เรียกเก็บภาษี และตั้งกำแพงการค้าต่อบริษัทของสหรัฐ หากสหภาพยุโรปยังไม่ยกเลิกการเรียกเก็บภาษี และกำแพงการค้า เราก็จะเรียกเก็บภาษี 20% ต่อรถยนต์ทั้งหมดที่นำเข้าจากสหภาพยุโรป" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ