ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดร่วง 245.39 จุด วิตกสงครามการค้าสหรัฐ-จีน,หุ้นเทคโนฯดิ่งหนัก

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 30, 2018 06:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (29 ต.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของข้อพิพาททางการค้า หลังจากสื่อรายงานว่าสหรัฐวางแผนเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงอย่างหนักของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,442.92 จุด ร่วงลง 245.39 จุด หรือ -0.99% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,050.29 จุด ลดลง 116.92 จุด หรือ -1.63% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,641.25 จุด ลดลง 17.44 จุด หรือ -0.66%

ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงหลังจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สหรัฐเตรียมเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่ หากการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างกัน โดยปธน.ทรัมป์และปธน.สี จิ้นผิง จะพบปะกันนอกรอบการประชุม G20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ในเดือนหน้า ทั้งนี้ การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนได้เริ่มต้นในช่วงกลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยสหรัฐได้เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในวงเงินรวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจีนก็ได้ตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีจากสหรัฐในวงเงินรวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์เช่นกัน ต่อมาในวันที่ 17 ก.ย. สหรัฐได้ประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนครั้งใหม่ในวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนก็ได้ตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีจากสหรัฐในวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์

ล่าสุด ปธน.ทรัมป์ขู่ว่า เขาจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนครั้งใหม่ในวงเงิน 2.57 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งหากสหรัฐเรียกเก็บภาษีจำนวนดังกล่าวจากจีน ก็เท่ากับว่าสหรัฐได้เรียกเก็บภาษีต่อสินค้าทั้งหมดที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐ โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า จีนได้ส่งออกสินค้าวงเงิน 5.05 แสนล้านดอลลาร์เข้าสู่สหรัฐในปีที่แล้ว

หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมร่วงลงเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยหุ้นโบอิ้ง ร่วงลง 6.6% หุ้นแคทเธอร์พิลลาร์ ลดลง 0.9% หุ้นยูไนเต็ด เทคโนโลยีส์ ร่วงลง 1.7% และหุ้นอีตัน คอร์ป ร่วงลง 1.3%

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยหุ้นอเมซอน ร่วงลง 6.3% หุ้นอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ดิ่งลง 4.5% หุ้นแอปเปิล ร่วงลง 1.8% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ร่วงลง 5% หุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 2.9% หุ้น Nvidia ร่วงลง 6.4% หุ้นไมครอน เทคโนโลยีส์ ร่วงลง 2.09% หุ้นซิสโก ซิสเต็มส์ ลดลง 0.9% และหุ้นเฟซบุ๊ก ร่วงลง 2.6%

หุ้นอินเตอร์เนชั่นแนล บิสซิเนส แมชชีน (IBM) ร่วงลง 4.1% หลังจากมีรายงานว่า IBM ได้บรรลุข้อตกลงเข้าซื้อกิจการของบริษัทเรดแฮต (Red Hat) ผู้ผลิตระบบปฏิบัติการ Linux ในวงเงิน 3.34 หมื่นล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ข่าวดังกล่าวช่วยหนุนหุ้นเรดแฮต ทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่งถึง 45.4%

หุ้นกลุ่มรถยนต์และหุ้นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ดีดตัวขึ้นขานรับข่าวที่ว่า รัฐบาลจีนกำลังพิจารณาปรับลดภาษีการซื้อรถยนต์ โดยหุ้นฟอร์ด มอเตอร์ พุ่งขึ้น 3.3% หุ้นเจเนอรัล มอเตอร์ (GM) เพิ่มขึ้น 1.5% หุ้นกู๊ดเยียร์ ไทร์ แอนด์ รับเบอร์ พุ่งขึ้น 3.4% และหุ้นเอเดียนท์ พีแอลซี ทะยานขึ้น 5.1%

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ในเดือนก.ย. โดยดีดตัวขึ้น 0.4% ในเดือนก.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แต่ต่ำกว่าตัวเลขการใช้จ่ายในเดือนส.ค.ที่ระดับ 0.5%

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน และหากเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐานดีดตัวขึ้น 2.0% ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟด และเป็นการแตะระดับ 2.0% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือนส.ค.จากเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค.จาก Conference Board, ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนต.ค.จาก ADP, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนต.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนต.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ดุลการค้าเดือนก.ย., ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนต.ค. และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ