ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าทั้งแดนบวกและลบ นลท.รอดูผลการประชุมเฟด-บอนด์ยีลด์ญี่ปุ่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 19, 2018 11:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าวันนี้ทั้งในแดนบวกและลบ ในขณะที่นักลงทุนต่างจับตาผลการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ท่ามกลางการคาดการณ์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ นักลงทุนยังติดตามความเคลื่อนไหวของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น หลังจากที่เมื่อวานนี้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนครึ่งชั่วขณะหนึ่งของการซื้อขาย

ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 25,855.34 จุด เพิ่มขึ้น 41.09 จุด, +0.16% ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดภาคเช้าที่ 21,025.10 จุด ลดลง 90.35 จุด, -0.43% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียปิดภาคเช้าที่ 1,645.79 จุด เพิ่มขึ้น 10.48 จุด, +0.64%

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้มีการเปิดเผยแล้วในวันนี้ ได้แก่ ยอดขาดดุลการค้าของญี่ปุ่นในเดือนพ.ย.ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ขณะที่ยอดการส่งออกสินค้าเกี่ยวกับสมาร์ทโฟนไปยังเอเชียนั้น ร่วงลง

ญี่ปุ่นมียอดการขาดดุลการค้ารวมทั้งสิ้น 7.373 แสนล้านเยน (6.6 พันล้านดอลลาร์) โดยขาดดุลการค้า 2 เดือนติดต่อกัน สำหรับในเดือนต.ค.นั้นยอดขาดดุลอยู่ที่ 4.501 แสนล้านเยน

นักลงทุนจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ จะแถลงมติการประชุมในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เฟดจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.25-2.50% หลังจากสิ้นสุดการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ในปีนี้

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการส่งสัญญาณของเฟดเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่า เฟดอาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อทรงตัวในเดือนพ.ย. และการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ขยายตัวน้อยกว่าคาดในเดือนพ.ย.

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ย., ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ย., ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3 (ประมาณการครั้งสุดท้าย), รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนพ.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ