ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดพุ่ง 443.86 จุด ขานรับเจรจาการค้าคืบหน้า,คลายวิตกชัตดาวน์

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday February 16, 2019 07:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (15 ก.พ.) โดยหุ้นกลุ่มการเงินปรับตัวขึ้นนำตลาด ขณะที่นักลงทุนมีความหวังมากขึ้นเกี่ยวกับความเป็นได้ในการบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน หลังจากทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเจรจากันต่อไปในสัปดาห์หน้า และตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่สหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานรัฐบาล (ชัตดาวน์) รอบ 2

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,883.25 จุด พุ่งขึ้น 443.86 จุด หรือ +1.74% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,775.60 จุด บวก 29.87 จุด หรือ +1.09% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,472.41 จุด เพิ่มขึ้น 45.46 จุด หรือ +0.61%

หุ้นทั้ง 11 กลุ่มของดัชนี S&P 500 ปิดในแดนบวก โดยหุ้นกลุ่มการเงินปรับตัวขึ้นนำตลาด โดยพุ่งขึ้นมากกว่า 2% ขณะที่หุ้นเจพีมอร์แกน เชส บวก 3.06% และหุ้นโกลด์แมน แซคส์ เพิ่มขึ้น 3.11%

ส่วนหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งอ่อนไหวต่อการค้าโลกปรับตัวขึ้นด้วย หลังได้แรงหนุนจากความคืบหน้าในเชิงบวกเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ โดยหุ้นแคทเธอร์พิลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.73% และหุ้น 3M บวก 1.92%

ตลาดหุ้นนิวยอร์กพุ่งขึ้น หลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าวว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนมีความคืบหน้าที่สำคัญในสัปดาห์นี้ และทั้งสองฝ่ายจะยังคงเจรจาต่อไปที่กรุงวอชิงตันในสัปดาห์หน้า ขณะที่นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ทวีตข้อความระบุว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในสัปดาห์นี้มีผลลัพธ์ที่ดี

บรรดานักลงทุนยังได้คลายความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ชัตดาวน์รอบ 2 หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในร่างกฎหมายงบประมาณ และแผนการรักษาความมั่นคงตามแนวชายแดนแล้ว เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนถึงเส้นตายในเวลาเที่ยงคืนวันศุกร์ตามเวลาสหรัฐ หรือช่วงเที่ยงวันนี้ตามเวลาไทย ซึ่งร่างกฎหมายงบประมาณดังกล่าวจะให้เงินทุนแก่หน่วยงานรัฐบาลจำนวน 9 แห่งเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้จนถึงวันที่ 30 ก.ย. ขณะเดียวกัน ปธน.ทรัมป์ยังได้ใช้อำนาจประธานาธิบดีลงนามในประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อออกกฎหมายอนุมัติงบประมาณสร้างกำแพงกั้นแนวชายแดนที่ติดกับเม็กซิโก โดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากสภาคองเกรส

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคานำเข้าร่วงลงเป็นเดือนที่ 3 ในเดือนม.ค. โดยปรับตัวลง 0.5% เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากดิ่งลง 1.0% ในเดือนธ.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนีราคานำเข้าจะลดลง 0.1% ในเดือนม.ค. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคานำเข้าทรุดตัวลง 1.7% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2559 หลังจากลดลง 0.5% ในเดือนธ.ค. โดยการดิ่งลงของราคาน้ำมัน และอาหาร รวมทั้งการแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้ราคานำเข้าร่วงลง

ส่วนดัชนีราคานำเข้าพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน ลดลง 0.2% ในเดือนม.ค. หลังจากทรงตัวในเดือนธ.ค. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคานำเข้าพื้นฐานทรงตัวในเดือนม.ค.

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังเปิดเผยว่า ดัชนีราคาส่งออกลดลง 0.6% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน โดยปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 3 และเมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคาส่งออกลดลง 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนธ.ค.

ด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนพ.ค.ปีที่แล้ว โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐร่วงลง 0.6% ในเดือนม.ค. เนื่องจากการผลิตรถยนต์ และเครื่องจักร ร่วงลง

ส่วนผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 95.5 ในเดือนก.พ. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 93.0 หลังจากแตะระดับ 91.2 ในเดือนม.ค. โดยดัชนีความเชื่อมั่นดีดตัวขึ้นหลังได้แรงหนุนจากการยุติการปิดหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ (ชัตดาวน์) และการที่ธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ