ดาวโจนส์ฟิวเจอร์ร่วง บ่งชี้วอลล์สตรีทปรับฐานคืนนี้ นักลงทุนจับตา Brexit

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 12, 2019 19:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ร่วงลงในวันนี้ บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะปรับตัวลงในคืนนี้ หลังจากทะยานขึ้นเมื่อวานนี้

นักลงทุนจับตารัฐสภาอังกฤษ ซึ่งจะลงมติในวันนี้ต่อข้อตกลงว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทำไว้กับผู้นำสหภาพยุโรป (EU) ก่อนหน้านี้

ณ เวลา 19.25 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลบ 79 จุด หรือ 0.31% สู่ระดับ 25,611 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ปิดพุ่งขึ้น 200 จุดเมื่อคืนนี้ โดยได้ปัจจัยบวกจากการดีดตัวของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี นำโดยหุ้นแอปเปิล ขณะที่หุ้นกลุ่มค้าปลีกปรับตัวขึ้น หลังจากสหรัฐรายงานยอดค้าปลีกที่ขยายตัวได้ดีเกินคาด โดยปัจจัยดังกล่าวช่วยสกัดแรงลบจากการร่วงลงอย่างหนักของหุ้นโบอิ้ง หลังจากเกิดเหตุการณ์เครื่องบิน Boeing 737 MAX 8 ของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ตกเมื่อวันอาทิตย์ จนเป็นเหตุให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตทั้งหมด

ราคาหุ้นของสายการบินโบอิ้งยังคงร่วงลงเป็นวันที่ 2 ในการซื้อขายก่อนเปิดตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในวันนี้ จากการที่นักวิเคราะห์ปรับลดอันดับความน่าลงทุนของบริษัท หลังจากที่เครื่องบิน Boeing 737 MAX 8 ของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์เกิดอุบัติเหตุตกลง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 157 ราย

ณ เวลา 18.28 น.ตามเวลาไทย ราคาหุ้นโบอิ้งร่วงลง 2.38% สู่ระดับ 390.49 ดอลลาร์ ในการซื้อขายก่อนเปิดตลาดหุ้นวอลล์สตรีท หลังจากปิดตลาดวานนี้ดิ่งลงกว่า 5%

ทั้งนี้ นายเอ็ดเวิร์ด โจนส์ ซึ่งเป็นนักวิเคราะห์ ได้ปรับลดอันดับความน่าลงทุนของโบอิ้ง สู่ระดับ hold จาก buy โดยระบุว่าบริษัทอาจได้รับผลกระทบจากการที่ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อเครื่องบิน หลังจากที่สายการบินหลายแห่งประกาศงดใช้เครื่องบิน Boeing 737 MAX 8 หลังจากเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว ขณะที่กรมการบินพลเรือนของจีน (CAAC) ก็ได้สั่งให้สายการบินภายในประเทศระงับการใช้เครื่องบินรุ่นดังกล่าว ส่วนกระทรวงคมนาคมของเกาหลีใต้ก็ได้ทำการตรวจสอบระบบความปลอดภัยของเครื่องบินรุ่นนี้เช่นกัน

ทางด้านนายเจฟฟรีย์ ค็อกซ์ อัยการสูงสุดของอังกฤษ เผยแพร่ความเห็นของเขาเกี่ยวกับข้อตกลง Brexit ฉบับล่าสุดที่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทำไว้กับผู้นำ EU เมื่อวานนี้

ความเห็นของนายค็อกซ์ถือว่ามีความสำคัญในการชี้นำการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภาอังกฤษที่มีกำหนดลงมติต่อข้อตกลงดังกล่าวในวันนี้เวลา 19.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือคืนนี้ 02.00 น.ตามเวลาไทย

ทั้งนี้ นายค็อกซ์เตือนว่า ความเสี่ยงทางด้านกฎหมายต่อข้อตกลง Brexit ยังคงมีอยู่ แม้ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการปรับปรุงแก้ไขหลังจากที่นางเมย์ทำการเจรจากับผู้นำ EU เมื่อคืนนี้

นายค็อกซ์ระบุว่า ข้อตกลง Brexit ดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้อังกฤษมีช่องทางตามกฎหมายในการยกเลิกนโยบาย backstop แต่เพียงฝ่ายเดียว

ทั้งนี้ นางเมย์ได้รับความเห็นชอบจากผู้นำ EU ให้ทำการเปลี่ยนแปลงข้อตกลง Brexit โดยมีผลผูกพันทางกฏหมาย ซึ่งรวมถึงนโยบาย backstop ซึ่งเป็นนโยบายในการรับประกันว่า จะไม่มีการกลับไปใช้มาตรการควบคุมชายแดนอย่างเข้มงวดระหว่างไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรป

ที่ผ่านมา กลุ่มผู้สนับสนุนให้อังกฤษแยกตัวจาก EU มีความกังวลว่า การใช้นโยบาย backstop จะเป็นการผูกมัดให้อังกฤษจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของ EU อย่างไม่มีกำหนด

ทางด้านนางเมย์กล่าวยืนยันว่า "การใช้ถ้อยคำใหม่ในข้อตกลง Brexit จะเป็นการค้ำประกันว่า EU จะไม่สามารถใช้นโยบาย backstop อย่างไม่มีกำหนด โดยข้อตกลงที่มีการปรับปรุงใหม่จะเป็นการให้การค้ำประกันซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมายว่า นโยบาย backstop จะมีการใช้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น และอังกฤษมีทางเลือกที่จะไม่ใช้นโยบายดังกล่าว หาก EU ไม่มีเจตนาดีในการเจรจากับอังกฤษ"

นอกจากนี้ อังกฤษและ EU ยังได้ตกลงกันที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดความจำเป็นในการตั้งด่านตรวจระหว่างไอร์แลนด์เหนือ และสาธารณรัฐไอร์แลนด์

ก่อนหน้านี้ รัฐสภาอังกฤษลงมติด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย 432 ต่อ 202 เสียงในเดือนม.ค. คว่ำร่างข้อตกลง Brexit ของนางเมย์ ส่งผลให้นางเมย์เป็นผู้นำรัฐบาลอังกฤษที่ประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดในรัฐสภาในรอบ 95 ปี และหากรัฐสภามีมติคว่ำข้อตกลงดังกล่าวอีกครั้งในวันนี้ นางเมย์ก็จะเสนอให้รัฐสภาเลือกระหว่างการแยกตัวออกจาก EU โดยไร้ข้อตกลง หรือจะเรียกร้องให้ EU ขยายกำหนดเวลาการแยกตัวจากเดิมในวันที่ 29 มี.ค.

หากรัฐสภาอังกฤษคว่ำข้อตกลง Brexit อีกครั้งในวันนี้ รัฐสภาก็จะทำการลงมติในวันพรุ่งนี้ว่าจะเห็นชอบต่อการที่อังกฤษแยกตัวออกจาก EU โดยไร้ข้อตกลงหรือไม่ ซึ่งหากรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบ ก็จะทำการลงมติในวันพฤหัสบดีว่าจะเรียกร้องให้ EU ขยายกำหนดเวลาการแยกตัวจากเดิมในวันที่ 29 มี.ค.หรือไม่ ซึ่งหากรัฐสภามีมติเรียกร้องให้ EU ขยายกำหนดเวลาออกไป รัฐบาลก็จะต้องทำการเจรจากับ EU ในเรื่องดังกล่าว แต่หากรัฐสภามีมติไม่เรียกร้องให้ EU ขยายกำหนดเวลาออกไป อังกฤษก็จะแยกตัวจาก EU อย่างเป็นทางการตามกำหนดเดิมในวันที่ 29 มี.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ