ดาวโจนส์พุ่งกว่า 100 จุด ขานรับเจรจาการค้าสหรัฐ-จีนคืบหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 28, 2019 21:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 100 จุดในวันนี้ ขานรับความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

ณ เวลา 21.10 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 25,728.81 จุด บวก 103.22 จุด หรือ 0.40%

คณะผู้แทนการค้าสหรัฐ ซึ่งนำโดยนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ และนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ เดินทางไปยังกรุงปักกิ่งของจีนเพื่อทำการเจรจาการค้าในวันนี้และพรุ่งนี้ กับนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน

รายงานระบุว่า การเจรจามีความคืบหน้าในทุกด้าน ขณะที่จีนได้ยื่นข้อเสนอที่ไม่เคยมีขึ้นมาก่อนเกี่ยวกับการถ่ายโอนเทคโนโลยี

ทางด้านนายหลิว เหอ และคณะ จะเดินทางไปยังกรุงวอชิงตันในสัปดาห์แรกของเดือนเม.ย. เพื่อหารือกับคณะเจรจาการค้าของสหรัฐ โดยการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนกำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายที่จะบรรลุข้อตกลงการค้าภายในสิ้นเดือนเม.ย.

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การเจรจาการค้ากับจีนกำลังมีความคืบหน้า และจะมีการบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ชี้แจงว่า การที่เขากล่าวก่อนหน้านี้ว่า สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนต่อไปอีกระยะหนึ่ง ไม่ได้เป็นการบ่งชี้ว่าการเจรจาการค้ากำลังมีปัญหา

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาตลาดพันธบัตรสหรัฐ หลังจากที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทร่วงลงวานนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2560 และปรับตัวต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 3 เดือน

นักลงทุนมีความวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปี

ผลการศึกษาของบริษัท Bespoke พบว่า การเกิดภาวะ inverted yield curve ในตลาดพันธบัตร จะเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2533, 2544 และ 2550

Bespoke เปิดเผยว่า ในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งแรกนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 3 ปีปรับตัวสูงกว่าพันธบัตรอายุ 5 ปี และหลังจากนั้น ก็เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2533

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการขั้นสุดท้ายสำหรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2561 โดยมีการขยายตัวเพียง 2.2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.4% และต่ำกว่าระดับ 2.6% ซึ่งมีการรายงานในเดือนก.พ.

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 3.4% ในไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว หลังจากพุ่งแตะ 4.2% ในไตรมาส 2 และแตะระดับ 2.2% ในไตรมาส 1 ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 2.9% ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการปรับตัวดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2558 และสูงกว่า 2.2% ในปี 2560 แต่ต่ำกว่าระดับ 3% ซึ่งเป็นเป้าหมายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2560 เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 3.0% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ต่ำกว่าระดับ 3.1% ที่มีการรายงานในเดือนก.พ.

การชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ได้รับผลกระทบจากการลดลงของการใช้จ่ายของผู้บริโภค และภาคธุรกิจ รวมทั้งการลดลงของการลงทุนของรัฐบาล และการลงทุนในการสร้างบ้าน

นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังถูกกดดันจากผลกำไรภาคเอกชนที่ไม่มีการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี โดยทรงตัวในไตรมาส 4 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2559 หลังจากเพิ่มขึ้น 3.5% ในไตรมาส 3

ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 211,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 225,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว

ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลายรายในวันนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐในปีนี้

นักวิเคราะห์ระบุว่า ในขณะที่เหลือเวลาอีกเพียง 1 วันก็จะสิ้นสุดเดือนมี.ค. ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมีแนวโน้มปรับตัวดีที่สุดในไตรมาสแรกของปีนี้ในรอบ 7 ปี

ทั้งนี้ ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 11.9% ในไตรมาสแรก ซึ่งถือเป็นการดีดตัวขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบรายไตรมาสนับตั้งแต่ปี 2555

การพุ่งขึ้นของตลาดได้กระจายตัวไปยังหุ้นกลุ่มต่างๆในวงกว้าง นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งทะยานขึ้น 17% ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงาน และอุตสาหกรรมดีดตัวขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ หุ้นราว 90% ที่ใช้คำนวณดัชนี S&P 500 ต่างก็ปรับตัวขึ้นในไตรมาสแรก แม้ว่าความวิตกเกี่ยวกับการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว ซึ่งทำให้เกิดภาวะ inverted yield curve ในตลาดพันธบัตร และเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ได้ถ่วงตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในช่วงปลายเดือนนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ