ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดร่วง 221.36 จุด วิตกสงครามการค้าทวีความรุนแรง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 30, 2019 06:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 2 เมื่อคืนนี้ (29 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากมีรายงานว่าจีนอาจใช้แร่หายากเป็นอาวุธในการทำสงครามการค้ากับสหรัฐ โดยความกังวลดังกล่าวได้กระตุ้นให้นักลงทุนแห่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,126.41 จุด ร่วงลง 221.36 จุด หรือ -0.87% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,783.02 จุด ลดลง 19.37 จุด หรือ -0.69% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,547.31 จุด ลดลง 60.04 จุด หรือ -0.79%

หนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี ซึ่งเป็นสื่อกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระบุเตือนสหรัฐเมื่อวานนี้ว่า จีนอาจใช้แร่หายากเป็นอาวุธในการทำสงครามการค้ากับสหรัฐ โดยขณะนี้จีนเป็นประเทศผู้ผลิตแร่หายากรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยแร่ดังกล่าวเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสมาร์ทโฟน และรถยนต์ไฟฟ้า

บทบรรณธิการของพีเพิลส์ เดลี ระบุว่า "เราขอแนะนำสหรัฐมิให้ประเมินความสามารถของจีนต่ำเกินไปในการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของจีน อย่าบอกว่าเราไม่ได้เตือนคุณก่อน"

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า พีเพิลส์ เดลีเคยใช้ประโยคที่ว่า "อย่าบอกว่าเราไม่ได้เตือนคุณก่อน" เพียง 2 ครั้งในอดีต โดยครั้งแรกในปี 2506 ก่อนที่จีนจะทำสงครามชายแดนกับอินเดีย และครั้งที่ 2 ในปี 2530 ก่อนที่จีนจะทำสงครามกับเวียดนาม

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ของจีนเตรียมยื่นขอต่อศาลสหรัฐให้ยกเลิกกฏหมายของสหรัฐที่ห้ามหน่วยงานรัฐบาลจากการซื้อผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย โดยทางบริษัทคาดหวังว่า ศาลสหรัฐจะประกาศว่าการสั่งห้ามหัวเว่ยนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนได้กระตุ้นให้นักลงทุนแห่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทระยะยาว ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 2.227% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2560 ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 2.665% เมื่อคืนนี้

รายงานระบุว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 3 เดือนอยู่ที่ระดับ 2.36% ซึ่งสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี และทำให้เกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว และเป็นการส่งสัญญาณถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีความอ่อนไหวต่อประเด็นการค้าระหว่างประเทศ ต่างพากันร่วงลง โดยหุ้นแอปเปิล ลดลง 0.5% หุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 1% หุ้นอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ร่วงลง 1.2% และหุ้นเฟซบุ๊ก ดิ่งลง 1.2%

หุ้นคาปรี โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของไมเคิล คอร์ส และเวอร์ซาเช่ ร่วงลง 9.9% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรไตรมาสแรกที่ต่ำกว่าคาดการณ์ และยังได้ปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการในปีนี้

หุ้นจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ร่วงลง 4.2% เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์แป้งเด็กจอห์นสัน หลังจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) ได้เรียกร้องให้ทางบริษัทแสดงเอกสารรับรองความปลอดภัยของแป้งเด็กที่บริษัทเป็นผู้ผลิต หลังมีสื่อเสนอข่าวว่า บริษัทได้รับรู้เป็นเวลานานหลายสิบปีว่า ผลิตภัณฑ์แป้งโรยตัวของบริษัท ซึ่งรวมถึงแป้งเด็กจอห์นสัน มีส่วนผสมของแร่ใยหิน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็ง จนถูกฟ้องร้องในชั้นศาล

หุ้นเจเนอรัล มิลส์ ผู้ผลิตอาหารแบรนด์ดัง เช่น ซีเรียล Cheerios และโยเกิร์ต Yoplait ร่วงลง 5.5% หลังจากนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ได้ปรับลดอันดับความน่าลงทุนของหุ้นเจเนอรัล มิลส์ โดยแนะนำให้นักลงทุน "ขาย" หุ้นดังกล่าว

หุ้นอะเบอร์ครอมบี แอนด์ ฟิทช์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกเสื้อผ้ารายใหญ่ของสหรัฐ ดิ่งลง 27% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรไตรมาสแรกที่ต่ำกว่าคาดการณ์ และยังได้ปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการในปีนี้

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์ เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 5 ในเดือนพ.ค. แต่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 6 หลังจากอยู่ที่ระดับ 3 ในเดือนเม.ย.

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2562 (ประมาณการครั้งที่ 2), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนเม.ย., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนเม.ย., การใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนเม.ย. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ