ดาวโจนส์พุ่งแรง ล่าสุดวิ่งกว่า 400 จุด ขณะปัจจัยบวกท่วมตลาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 4, 2019 22:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดทะยานขึ้นกว่า 400 จุด ขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากที่จีนส่งสัญญาณเปิดการเจรจาการค้ารอบใหม่เพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐ

นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร และเทคโนโลยี ยังเป็นปัจจัยหนุนตลาดวอลล์สตรีทในวันนี้

ณ เวลา 22.24 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 25,236.05 จุด บวก 416.27 จุด หรือ 1.68%

ราคาหุ้นของบริษัทเจเนรัล มอเตอร์ (GM) และฟอร์ด ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีต่อสินค้าเม็กซิโก ดีดตัวขึ้น 4.3% และ 3.2% ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและเม็กซิโก

กระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์ ระบุว่า ความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขผ่านทางการเจรจาต่อไป

"จีนเชื่อมาโดยตลอดว่า ความคิดเห็นที่แตกต่าง และความขัดแย้งทางการค้าและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศทั้งสอง ในท้ายที่สุดแล้ว จำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขผ่านการเจรจา และการปรึกษาหารือ"

"อย่างไรก็ดี การปรึกษาหารือดังกล่าวต้องมีหลักการ และตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน ความเท่าเทียมกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน เราหวังว่าสหรัฐจะยกเลิกแนวปฏิบัติที่ผิดพลาด และทำงานร่วมกับจีน ซึ่งภายในจิตวิญญาณของการเคารพซึ่งกันและกัน ความเท่าเทียมกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน เราจะสามารถควบคุมความคิดเห็นที่แตกต่าง และเพิ่มความร่วมมือในการปกป้องการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐให้มีเสถียรภาพ และยั่งยืน"

"การที่สหรัฐกล่าวหาจีนว่าเป็นฝ่ายกลับคำพูดในระหว่างที่มีการปรึกษาหารือ เป็นการกล่าวหาที่ไร้สาระ เนื่องจากในระหว่างการปรึกษาหารือ เป็นเรื่องปกติที่การเจรจาการค้าจะต้องมีการเสนอการเปลี่ยนแปลง และการปรับเปลี่ยนต่อเนื้อหาในข้อความ" แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้ การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนประสบความล้มเหลวในเดือนที่แล้ว โดยที่ประชุมไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้า ขณะที่สหรัฐได้เพิ่มการเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 25% จากเดิมที่ระดับ 10% ส่งผลให้จีนทำการตอบโต้ ด้วยการเพิ่มการเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 25% จากเดิมที่ระดับ 10% โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย.

นอกจากนี้ สหรัฐได้ขึ้นบัญชีดำบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ ทำให้บริษัทไม่สามารถซื้อสินค้าจากสหรัฐ และสหรัฐยังได้เตรียมพิจารณาเพิ่มบัญชีรายชื่อบริษัทจีนที่จะถูกขึ้นบัญชีดำ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กำลังพิจารณาที่จะขึ้นบัญชีดำบริษัทจำหน่ายกล้องวงจรปิดรายใหญ่ 5 รายของจีน ซึ่งรวมถึงบริษัท Hikvision Digital Technology และ บริษัท Dahua Technology ด้วยข้อหากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังคลายความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและเม็กซิโก หลังจากที่นายมาร์เซลโล เอบราร์ด รัฐมนตรีต่างประเทศเม็กซิโก กล่าวว่า เขาคาดหวังว่าสหรัฐและเม็กซิโกจะสามารถหาจุดยืนร่วมกันในด้านผู้อพยพเข้าเมือง และการค้า

ทางด้านหนังสือพิมพ์เดอะ วอชิงตัน โพสต์รายงานว่า สมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันกำลังหารือกันเกี่ยวกับการลงมติคัดค้านแผนการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในการปรับขึ้นอัตราภาษีต่อสินค้านำเข้าจากเม็กซิโก

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าทั้งหมดจากเม็กซิโก ในอัตรา 5% โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย. และจะเพิ่มขึ้นทุกเดือนจนแตะระดับ 25% ในวันที่ 1 ต.ค. ถ้าเม็กซิโกไม่สามารถสกัดการหลั่งไหลของผู้อพยพผิดกฎหมายที่ข้ามพรมแดนเข้าสู่สหรัฐ

แหล่งข่าวยังเปิดเผยว่า การลงมติของสภาคองเกรสยังอาจสกัดแผนการจัดสรรงบประมาณจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์สำหรับการสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโกของปธน.ทรัมป์ หลังจากที่เขาประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติทางชายแดนตอนใต้ในเดือนก.พ.

ทั้งนี้ กฎหมายสหรัฐให้สภาคองเกรสมีอำนาจในการยกเลิกคำสั่งประกาศภาวะฉุกเฉินด้วยการออกมติคัดค้านคำสั่งดังกล่าว

นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้า หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ซบเซา

นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ เพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อ และเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเผชิญภาวะขาลง อันเนื่องมาจากสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

นายบูลลาร์ดกล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ เพื่อช่วยหนุนอัตราเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อ นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังอาจช่วยพยุงเศรษฐกิจ ในกรณีที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ นายบูลลาร์ดถือเป็นกรรมการเฟดคนแรกที่ออกมาแสดงความเห็นต่อสาธารณะว่าเฟดจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย นับตั้งแต่เฟดได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 2.25-2.50% ในการประชุมเดือนม.ค.ปีนี้ โดยแถลงการณ์ของเฟดระบุว่า เฟดจะใช้ "ความอดทน" ในการดำเนินนโยบายการเงิน พร้อมกับพิจารณาถึงอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้า

การประชุมเฟดครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 18-19 มิ.ย.

นักลงทุนจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายในวันนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐในปีนี้

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่า เฟดกำลังจับตามองพัฒนาการทางเศรษฐกิจในขณะนี้ และจะดำเนินการในสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไป

"เราไม่รู้ว่าการทำสงครามการค้าจะได้ข้อยุติเมื่อใด และอย่างไร แต่เรากำลังจับตามองสิ่งบ่งชี้เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ และเราจะดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป โดยมีตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และเงินเฟ้ออยู่ใกล้ระดับเป้าหมาย 2%" นายพาวเวลกล่าว

นอกจากนี้ นายพาวเวลยังเปิดเผยว่า เครื่องมือที่เฟดเคยใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ ซึ่งได้แก่ การกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ใกล้ 0% และการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มีแนวโน้มที่จะนำมาใช้อีกครั้งหนึ่ง

"บางทีถึงเวลาแล้วที่เฟดจะยุติการใช้คำว่า "แบบไม่ปกติ" เมื่อเราระบุถึงเครื่องมือที่มีการใช้ในช่วงเกิดวิกฤตการณ์ เรารู้ว่าเครื่องมือเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีความจำเป็นในอนาคต ซึ่งเราหวังว่าคงจะใช้ไม่บ่อยนัก" นายพาวเวลกล่าว

เครื่องมือ FedWatch ของ CME Group ระบุว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 90% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. และมีโอกาสมากกว่า 80% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธ.ค.

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐลดลง 0.8% ในเดือนเม.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.9% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.3% ในเดือนมี.ค.

การร่วงลงของคำสั่งซื้อภาคโรงงานได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของคำสั่งซื้อเครื่องบิน, รถยนต์, คอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเลคทรอนิคส์

เมื่อเทียบรายปี ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือนเม.ย.

ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐาน ที่ไม่รวมหมวดอาวุธและเครื่องบิน ลดลง 1.0% ในเดือนเม.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. โดยยอดสั่งซื้อดังกล่าวได้รับการจับตาว่าเป็นมาตรวัดความเชื่อมั่น และแผนการใช้จ่ายในภาคธุรกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ